ครุศิลป์ ครุอาร์ต ครุศาสตร์ ศิลปศึกษา จุฬาฯ ตอบกระทู้แนะแนวให้แก่ผู้ที่สนใจจะเรียนที่นี่ พิมพ์
เรื่องน่าอ่าน (Recommended)
วันอังคารที่ 23 มิถุนายน 2009 เวลา 04:53 น.
พี่หนุ่ยครุอาร์ตสิบ

สวัสดี น้อง ๆ ที่รัก

มีน้องๆ จำนวนมากสนใจว่า ครุศิลป์ หรือครุอาร์ต นั้นเป็นอย่างไร พี่ขอเล่าให้ฟัง

ชื่อที่เรียกกันนั้นเป็น Nick name ของสาขาวิชาศิลปศึกษา คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ซึ่ง เปิดสอนหลักสูตรครุศาสตร์บัณฑิต (ค.บ.) สาขาวิชาศิลปศึกษา ที่เมื่อจบไปแล้วสามารถปฎิบัติหน้าที่ครู/อาจารย์ ทั้งระดับปฐมวัย ประถมศึกษา ไปจนถึงระดับมัธยมศึกษา หลักสูตรครุศาสตร์บัณฑิตได้ถูกปรับเป็นหลักสูตร 5 ปี ซึ่งเป็นไปตาม พระราช บัญญัติการปฎิรูปการศึกษา ผู้ที่จบหลักสูตรนี้จะได้รับใบอนุญาติประกอบวิชาชีพครู ซึ่งหมายความว่า วิชาชีพครูเป็นวิชาชีพชั้นสูง ต้องได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย ผู้ประกอบวิชาชีพอื่นจะต้องผ่านการศึกษาวิชาครูก่อน เช่น หากเรียนจบจากคณะศิลปกรรมศาสตร์ ได้รับวุฒิศิลปกรรมศาสตร์บัณฑิต และต้องการเป็นครูอาจารย์สอนศิลปะในโรงเรียน จะต้องมาเรียนหลักสูตรครุศาสตร์บัณฑิตก่อน 2 ปี จึงจะได้รับใบอนุญาติประกอบวิชาชีพครู แล้วจึงจะทำการสอนหนังสือได้

การเรียนทุกที่ หากเรามีความสนใจ มีความถนัด เป็นพื้นฐานแล้ว เราจะสนุกและมีความสุขกับสิ่งนั้น ทั้งนี้น้องต้องมีเป้าหมายชีวิตที่ชัดเจนเสียก่อนว่า อาชีพที่ตนไฝ่ฝันนั้นคืออะไร หากเป็นการสร้างคน ให้ปัญญา และมีความสุขเมื่อเห็นผู้เรียนพัฒนาขึ้น การเป็นครูนับว่าเป็นสิ่งที่รอคอย และท้าทายเราอยู่    การเรียนที่สาขาวิชาศิลปศึกษา มีทั้งภาคทฤษฎี ปฏิบัติ การออกไปศึกษานอกสถานที่  และการฝึกสอน ซึ่งหลักสูตรจะแบ่งออกเป็น 3 หมวดใหญ่ ๆ คือ

1. วิชาการศึกษาทั่วไป เป็นหมวดวิชาที่ช่วยให้ผู้เรียนมีความรู้กว้างขวาง มีวิสัยทัศน์ เป็นผู้บูรณาการศาสตร์ และนำความรู้จากหลาย ๆ ศาสตร์มาเชื่อมโยงกัน   หมวดวิชานี้ยังเป็นพื้นฐานสำคัญสำหรับหลาย ๆ คนที่ไปเรียนต่อในระดับสูง รวมทั้งที่สาขาวิชาศิลปศึกษาก็ยังเปิดหลักสูตรถึงปริญญาโท หรือครุศาสตร์มหาบัณฑิตด้วย   มีรุ่นพี่ของพวกเราไปศึกษาต่อในระดับปริญญาโท และเอก ในขณะที่หลักสูตรวิชาชีพอื่น ๆ จะเน้นไปยังวิชาชีพของตนเอง

2. หมวดวิชาครู เป็นหมวดวิชาชีพครุศาสตร์ ซึ่งเป็นศาสตร์แห่งการถ่ายทอด จิตวิทยาของมนุษย์ จิตวิทยาการสอน การจูงใจ วิธีวิทยาการสอนแบบต่าง ๆ รวมทั้งการไปฝึกประสบการณ์วิชาชีพ หรือฝึกสอน หมวดวิชานี้มีจุดเด่นที่ทำให้บัณฑิตเป็นผู้ที่สามารถสื่อสารกับบุคคลในระดับ ต่าง ๆ ด้วยวิธีการที่หลากหลาย ด้วยการเข้าใจตนเองและการเข้าใจจิตใจผู้คนรอบข้าง ซึ่งเป็นสิ่งที่ได้เปรียบเมื่อไปทำงานร่วมกับผู้อื่น

3. หมวดวิชาเฉพาะ คือวิชาสาขาศิลปะ ซึ่งถือเป็นเนื้อหาหลักของหลักสูตรฯ  ผู้ที่จะเรียนหลักสูตรนี้ได้จะต้องผ่านการทดสอบความถนัดทางศิลปะ   ความถนัดทางศิลปะ มิใช่ ทักษะทางศิลปะ น้อง ๆ รู้ไหมว่าทั้งสองสิ่งมีความแตกต่างกัน  ความถนัด เป็นพรสวรรค์ที่มีอยู่ในตัวบุคคลผู้นั้น เพียงแต่รอให้เราค้นพบตัวเองหรือ ใช้มันออกมา  แต่ทักษะเป็นเรื่องของการฝึกฝน ทักษะทางศิลปะ ได้แก่การวาดภาพ ระบายสี  การลอกการเขียนลวดลาย  ซึ่งหนักไปทางช่างศิลป์   ความถนัดทางศิลปะจะปรากฏออกมาในลักษณะความคิดสร้างสรรค์  การมีความไวและสามารถตัดสินความงาม รวมทั้งความสามารถเห็นภาพวัตถุได้ในมุมมองแบบต่าง ๆ กันเป็นภาพสามมิติ เราเรียกว่ามิติสัมพันธ์  เป็นต้น   ที่ว่าผลงานศิลปะเป็นสัมผัสของแต่ละบุคคลนั้นก็เพราะว่า เราต่างมีบุคลิก อารมณ์ และความถนัดที่แตกต่างกันไป การมีความถนัดทางศิลปะเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับผู้ที่จะเป็นครูศิลปะ  วิชาที่เรียนในหมวดนี้มีมากมาย แต่แบ่งออกเป็นสองกลุ่มคือ กลุ่มทัศนศิลป์ ได้แก่ ประติมากรรม จิตรกรรม ภาพพิมพ์ กลุ่มประยุกต์ศิลป์ ได้แก่ การออกแบบกราฟิก การออกแบบนิเทศศิลป์ การออกแบบตัวอักษร เครื่องเคลือบดินเผา  การออกแบบเครื่องเรือน  การออกแบบตกแต่งภายใน งานพลาสติก  คอมพิวเตอร์กราฟิก เป็นต้น   และเมื่อเรียนถึงชั้นปีที่ 4 น้องจะรู้สึกว่ามีความรู้มากจนอยากจะหาใครซักคนหรือหลาย ๆ คนมานั่งฟังเราพูด เราสอน  ถึงเวลานั้นอาจารย์ก็จะจัดหากโรงเรียนให้เราฝึกสอนกัน

น้องจะเห็นว่าการเป็นครูศิลปะนั้น มิใช่ว่าใครจะมาเป็นก็ได้ แต่จะต้องเตรียมตัวกันมาก และทำงานกันอย่างหนัก  ครูสังคม ทองมี และ ศาสตราจารย์ ดร. ชาญณรงค์  พรรุ่งโรจน์ คณบดีคณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ท่านก็เป็นตัวอย่างรุ่นพี่ที่จบการศึกษาจากที่นี้ไปเป็นครูศิลปะที่มีชื่อ เสียง และนักการศึกษาระดับสูงให้เราเห็น แต่ก็มีอีกหลายคนที่ประกอบอาชีพส่วนตัวเป็นนักออกแบบ หรือศิลปินอิสระ ที่ประสพความสำเร็จ  แม้ในวงการบันเทิง อย่างพี่ป๊อด (ธนชัย อุชชิน) แห่งวงโมเดิร์นด๊อก (Modern Dog) ราชาเพลงป๊อป และพี่ต้า(อิทธิพงศ์ กฤดากร ณ อยุธยา) แห่งวงดนตรี Paradox  ก็เป็นผลผลิตมาจากสาขาวิชาฯ  หรือ พี่วุธ หรือ อัษฎาวุธ  เหลืองสุนทร ที่ประสพความสำเร็จในวงการละคร

ยังมีพี่ ๆ อีกหลายคนที่ประสพความสำเร็จในวงการต่าง ๆ แต่ไม่สามารถนำมากล่าวได้หมด  พี่ ๆ  เหล่านี้ได้นำ ความรู้ และ จินตนาการที่ได้จากครุศิลป์  ไปใช้ปรับเสริมเติมแต่งกับสิ่งที่ตนรักจะทำ รวมทั้งเป็นพื้นฐานการเรียนต่อในระดับสูง   ส่วนหนึ่งก็เพราะพี่ ๆ เหล่านี้มีวิชาศิลปะติดตัวออกไป ซึ่งกลายเป็นทางเลือกสำหรับออกไปประกอบอาชีพได้หลากหลาย  แต่เมื่อถึงเวลาหนึ่งที่ประสบความสำเร็จแล้วก็มักจะไม่ลืมกลับมาถ่ายทอดความ รู้ให้กับน้อง ๆ ที่ครุศิลป์ เพราะวิญญาณความเป็นครูและความผูกพันกับสถาบันการศึกษายังคงฝังอยู่ในจิตใจ

พี่ขอฝาก ช่วงเวลานี้เป็น โอกาสสำคัญของชีวิตว่าเราจะมีอาชีพอะไรไปตลอดชีวิต ขอให้คิดให้ดี พี่ขอให้ข้อพิจารณาดังนี้
1. เป็นสิ่งที่สุจริต ทำให้ชีวิตของเราเจริญก้าวหน้า
2. เป็นสิ่งที่เรารัก ชอบ ถนัด สนใจ เ
พราะสิ่งที่เรารัก และถนัด  เราจะทำอย่างมีความสุข ทำได้ดี และง่ายสำหรับเรา
3. เสี่ยงภัยน้อย ทำให้เรามีชีวิตที่มั่นคงยืนยาว
4. ให้ผลตอบแทนคุ้มค่า
เพราะชีวิตเราทุกคนต้องอาศัยปัจจัย 4  ความคุ้มค่าในที่นี้คือ ไม่เหน็ดเหนื่อย เบียดเบียน ตนเองจนเกินไป และไม่เอาเปรียบหน่วยงาน หรือสังคมจนเกินไป งานที่ให้ผลตอบแทนมากย่อมจะไม่มั่นคงยั่งยืน
5. มีเกียรติ และศักดิ์ศรี
งานบางประเภทให้ผลตอบแทนด้านวัตถุมากจริง แต่ขาดเกียรติ ศักดิศรีและความภาคภูมิใจในตนเอง แม้ว่าจะมองไม่เห็นสิ่งที่ได้ แต่ให้ผลตอบแทนแก่จิตใจ ด้วยต้องเสียสละบางสิ่งบางอย่าง ก็ทำให้เรามีความสุขในฐานะผู้ให้คุณค่าต่อหน่วยงาน สังคม บ้านเมือง มีส่วนจรรโลงประเทศชาติ


ขอให้น้องๆ โชคดี
พี่หนุ่ย ครุอาร์ตสิบ


พี่หนุ่ย รุ่นสิบ หรือ อาจารย์ปุณณรัตน์ ปัจจุบัน สอนอยู่ที่ คณะครุศาสตร์ ศิลปศึกษา
อีเมล ppoonara@chula.ac.th

Poonarat Pichayapaiboon, Ed.D.
Associate Professor in Art Education
Chairman of Division of Art Education
Department of Art Music and Dance Education
Chulalongkorn University
BKK., Thailand

แก้ไขล่าสุด ใน วันพฤหัสบดีที่ 03 กันยายน 2009 เวลา 03:42 น.