ตุ๊กตาดะรุมะ (だるま) พิมพ์
ปิยะแสง เล่าเรื่อง
วันอังคารที่ 15 กันยายน 2009 เวลา 16:05 น.

ตุ๊กตาดะรุมะ” หรือ “ตุ๊กตาดารูมะ” (Daruma doll) นับเป็นหนึ่งในตุ๊กตาโชคราง ที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายในประเทศญี่ปุ่น  เป็น “ตุ๊กตาสัญลักษณ์แห่งความหวัง” ที่สร้างขวัญกำลังใจให้แก่ผู้ที่ครอบครองเป็นเจ้าของ   ลักษณะของตุ๊กตาดะรุมะจะมีหนวด และเคราดำ ไม่มีแขน ไม่มีขา และเพราะว่าส่วนฐานด้านล่างมีลักษณะโค้งกลมมน และมีน้ำหนักมาก ในขณะที่ส่วนด้านบนจะมีน้ำหนักเบาจึงทำให้ตุ๊กตาดะรุมะจัดเป็นประเภท ตุ๊กตาล้มลุก (roly-poly dolls) ชนิดหนึ่ง เพราะเมื่อผลักไปทางด้านใด ก็จะย้อนกลับมาตั้งตรงได้อีกทุกๆ ครั้งนั่นเอง  ทั้งหมดนี้เป็นเพียงรายละเอียดภายนอกเท่านั้น  แต่จุดเด่นอันเป็นเอกลักษณ์สำคัญยิ่งก็คือ  ตุ๊กตาดะรุมะ “ไม่มีดวงตาทั้งสองข้าง !”


มีคำกล่าวหนึ่งกล่าวไว้ว่า “เพราะมนุษย์ทุกคนล้วนมีความหวัง เราจึงสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้จนถึงวันนี้”  ความหวัง จึงเป็นกำลังใจให้มนุษย์รู้จักพากเพียรพยายาม เพื่อความหวังความปรารถนานั้นจะเป็นจริง  ตุ๊กตาดะรุมะจึงมีคุณค่าความหมายที่ลึกซึ้ง ดังเช่นคำกล่าวข้างต้นไม่ผิดเพี้ยน แต่ไฉนเล่าดะรุมะถึงไม่มีดวงตา ?

 


ตุ๊กตาดะรุมะ เมื่อแรกได้มา จะไม่มีดวงตาทั้งสองข้าง


ตุ๊กตาดะรุมะอาจได้มาด้วยการซื้อหา เช่นเดียวกับที่ชาวญี่ปุ่นนิยมส่งมอบตุ๊กตาดะรุมะเป็นของขวัญของกำนัล  ธรรมเนียมในการขอพรจากตุ๊กตาดะรุมะแบบญี่ปุ่นนั้น จะมีการเขียนพรที่ขอหรือความหวังที่ต้องการ ด้วยตัวอักษรญี่ปุ่นแบบคันจิ ไว้ที่ด้านล่างใต้คาง รวมทั้งยังเขียนความปรารถนานั้นเพิ่มเติมไว้ตรงบริเวณข้างศีรษะด้านซ้าย และด้านขวา เมื่อแรกที่ได้ตุ๊กตาดะรุมะมานั้น ดวงตาทั้งสองข้างจะว่างเปล่า ผู้เป็นเจ้าของจะต้องใช้หมึกดำเติมลงให้เป็นวงกลมสีดำเหมือนลูกตา และตั้งจิตอธิษฐานถึงความปรารถนาที่หวังจะให้เป็นจริง  และเมื่อวันหนึ่งข้างหน้า ความหวังนั้นกลายเป็นจริงดั่งที่ปรารถนา ให้เราวาดลูกตาดวงที่สองให้ครบทั้งสองข้าง ตุ๊กตาดะรุมะก็จะมีดวงตาครบสมบูรณ์ (ตามธรรมเนียมนิยมของญี่ปุ่นนั้น จะต้องเติมลูกตาข้างขวาก่อน และเมื่อความปรารถนานั้นเป็นจริง จึงค่อยเติมลูกตาข้างซ้าย) จากนั้นจะนิยมนำตุ๊กตาดะรุมะที่มีดวงตาครบสมบูรณ์วางไว้บนที่สูง ซึ่งอาจเป็นหิ้งพระ หรือหิ้งบูชาแบบญี่ปุ่น

นอกจากนี้ วัดหลายแห่งในประเทศญี่ปุ่นยังมีตุ๊กตาดะรุมะจำหน่ายให้แก่ผู้ที่ศรัทธา โดยจะมีตราเครื่องหมายของวัดประทับอยู่ และเมื่อถึงปลายปีจะมีธรรมเนียมในการเผาตุ๊กตาดะรุมะของผู้ที่เป็นเจ้าของ และได้สมหวังดังปรารถนาไปแล้วนั้น นำมาเผารวมกันเพื่อส่งสารขอบคุณไปสู่สรวงสวรรค์ จากนั้น หากผู้ใดจะตั้งความหวังในสิ่งใหม่ ก็จะต้องเลือกหาตุ๊กตาดะรุมะตัวใหม่กันอีกครั้ง

 

เจ้าของตุ๊กตาดะรุมะ จะต้องใช้หมึกดำเติมลงให้เป็นวงกลมสีดำ เหมือนลูกตา และตั้งจิตอธิษฐานถึงความปรารถนาที่หวังจะให้เป็นจริง


ประวัติของตุ๊กตาดะรุมะนั้นน่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง  เพราะชื่อคำว่า “ดะรุมะ”(Daruma) นั้น  ก็คือ ท่านดะรุมะ  ผู้เป็นสังฆปรินายกองค์ที่ 28 หรือ ตะโมภิกขุ หรือ พระโพธิธรรม (Bodhidharma) หรือชื่อที่คนไทยคุ้นเคยกันดีว่า “ตั๊กม้อ”(達磨) ( ตั๊กม้อเป็นสำเนียงแต้จิ๋ว หากเรียกในสำเนียงจีนกลางคือ “ต๋าหมอ” ) ท่านเป็นพระภิกษุชาวอินเดียผู้ก่อตั้งนิกายเซ็น และยังเป็นผู้ก่อตั้งวัดโชลิน หรือ โชลิน-จิ (少林寺) ในประเทศจีน หรือก็คือ “วัดเส้าหลิน” ต้นกำเนิดของวิทยายุทธจีนที่รู้จักกันดีทั่วโลกนั่นเอง

เมื่อความหวังนั้นสำเร็จดั่งประสงค์ ตุ๊กตาดะรุมะก็จะมีดวงตาครบสมบูรณ์     ภาพจิตรกรรมรูปเหมือนท่านดะรุมะ


สำหรับประวัติของท่านดะรุมะนั้น มีตำนานเล่าขานกันว่า ท่านมีชีวิตอยู่ในช่วงสมัยต้นศตวรรษที่ 5  เป็นเจ้าชายองค์ที่ 3 ของกษัตริย์แห่งแคว้นคันธาระแห่งอินเดีย  มีความสนใจในพระธรรมอย่างลึกซึ้ง จึงได้ออกบวชตั้งแต่ยังเยาว์ จนกระทั่งแตกฉานในพระธรรม และกลายเป็นพระเถระชั้นผู้ใหญ่ในชมพูทวีป  จากนั้นท่านดะรุมะ (พระโพธิธรรม) จึงเดินทางเข้าสู่ประเทศจีนในช่วงสมัยราชวงศ์เหนือ-ใต้ (หนานเป่ยเฉา) แล้วก่อตั้งนิกายฌาน(Dhyan) หรือ เซ็น (Zen) ตามสำเนียงญี่ปุ่น  ส่วนการเรียกนิกายดังกล่าวว่า ฌาน(เซ็น) นั้น เป็นเพราะว่าเน้นการตั้งจิตสมาธิ และการเข้าฌานเพื่อใช้สติสมาธิในการดับทุกข์ เพื่อบรรลุสู่นิพพาน ทำให้นิกายเซ็นแพร่หลายจากจีนสู่เกาหลี และญี่ปุ่นตามลำดับ  สำหรับประเทศญี่ปุ่นแล้ว นิกายเซ็นเป็นนิกายที่สำคัญที่สุด และกล่าวกันว่า เพราะท่านดะรุมะชอบสวมจีวรสีแดงอยู่เป็นนิจ ดังนั้น ต่อมาเมื่อมีการสร้างตุ๊กตาล้มลุกดะรุมะ จึงนิยมสร้างให้มีลักษณะสวมชุดจีวรสีแดงดังกล่าว


ตำนานเรื่องเล่าเกี่ยวกับท่านดะรุมะยังกล่าวอีกว่า ท่านเคยนั่งบำเพ็ญสมาธิ โดยหันหน้าเข้าหากำแพงนานถึง 9 ปี จนบรรลุสำเร็จเป็นพระอรหันต์ (อนึ่ง ตามคติฝ่ายจีน ท่านดะรุมะ (พระโพธิธรรม หรือ ตั๊กม้อ) คือหนึ่งในสิบแปดอรหันต์ที่นับถือกันอย่างแพร่หลาย)

บันทึกเรื่องเล่าเกี่ยวกับท่านดะรุมะในประเทศญี่ปุ่นนั้นมีปรากฎอยู่หลายเรื่อง  ดังเช่นการแพร่หลายของรูปเคารพท่านดะรุมะจนกลายมาเป็น ตุ๊กตาดะรุมะนั้น แพร่หลายมาจากจีนสู่ญี่ปุ่นครั้งแรกที่เมืองนางาซากิ สมัยเอโดะ จนเป็นสัญลักษณ์แห่งการขอพรตามความหวังที่นิยมไปทั่วเกาะญี่ปุ่น  ส่วนสาเหตุที่ตุ๊กตาดะรุมะมีสีแดง ยังเล่าขานกันว่า ในสมัยโบราณ ญี่ปุ่นเกิดโรคระบาดครั้งใหญ่คือโรคฝีดาษ(ไข้ทรพิษ)  หากระบายสีตุ๊กตาดะรุมะด้วยสีแดง  อันเป็นสีจีวรประจำตัวของท่าน จะทำให้พวกวิญญาณชั่วร้ายหวาดกลัว  อีกทั้งเทพเจ้าแห่งโรคฝีดาษก็ไม่ชอบสีแดงเช่นกัน  ดังนั้น จึงมีธรรมเนียมกันว่า หากให้ตุ๊กตาดะรุมะสวมจีวรแดงเป็นของขวัญแก่เด็กๆ  ก็จะทำให้เด็กๆ เหล่านั้นพ้นจากโรคภัย และเคราะห์ร้าย


ในบทเพลงของเด็กๆ ชาวญี่ปุ่นในช่วงศตวรรษที่ 17 ยังมีเพลงสำหรับเด็กเพลงหนึ่งชื่อว่า “พระล้มลุกตัวน้อยๆ ” (Okiagari Koboshi) บทร้องแปลได้ว่า

“ หนึ่งครั้ง ! สองครั้ง ! ดะรุมะก็ยังสวมชุดคลุมแดงอยู่อย่างนั้น
หากไม่ระวังล้มลงล่ะก้อ ลุกขึ้นมาอีกครั้งสิ ! ”



ดะรุมะ 5 สี เป็นที่นิยมอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน โดยเฉพาะดะรุมะสีแดง จะเป็นแบบมาตรฐานที่นิยมมากที่สุด


ปัจจุบัน  ตุ๊กตาดะรุมะจะมีการสร้างไว้หลายขนาด ขนาดเล็กๆ ตั้งแต่ 5 เซนติเมตร ไปจนถึงขนาดใหญ่ถึง 60 เซนติเมตร  การระบายสีบนตัวตุ๊กตาดะรุมะ แน่นอนว่าสีที่พบเห็นโดยทั่วไปคือ “สีแดง” ตามตำนานเก่าแก่ในอดีต   แต่ในปัจจุบันมีการทำตุ๊กตาดะรุมะ 5 สีที่วัดดะรุมะจิ อำเภอชิสุโอกะ จังหวัดอิสุ  ตามความเชื่อว่า เป็นสีของธาตุทั้งห้าในจักรวาล ได้แก่ สีน้ำเงิน สีเหลือง สีแดง สีขาว และ สีดำ  ในขณะที่ปัจจุบันยังมีสีแบบอื่นๆ อีก เช่น สีทอง สีม่วง หรือสีชมพู ตามสมัยนิยมทั่วไป  และเพราะความนิยมในตุ๊กตาดะรุมะ ทำให้ทุกวันนี้ มีการสร้างตุ๊กตาดะรุมะเพศหญิงขึ้นมาบ้าง เรียกกันว่า “ฮิเมะดะรุมะ”(Hime Daruma) บางทีก็เรียกว่า “เจ้าหญิงดะรุมะ” (Princess Daruma)


ไม่ว่าท่านจะเชื่อในตุ๊กตาดะรุมะมากน้อยเพียงใดก็ตาม สำหรับวัฒนธรรมแบบญี่ปุ่นแล้วนั้น ตุ๊กตาดะรุมะเป็นเครื่องหมายแทนความปรารถนาของมนุษย์ทุกคนที่รอคอยในความหวัง  เป็น “สัญลักษณ์แห่งความสุข ความไม่ย่อท้อ และ ความตั้งใจอันแน่วแน่” สิ่งนั้นนั่นเองจึงเป็นความหมายอันแท้จริงของดะรุมะ !

 


เรื่องโดย ปิยะแสง จันทรวงศ์ไพศาล (17)
15 September 2009
เรื่องก่อนหน้า สิบเสาสัญญลักษณ์ - เสาศิวะ :: เสาชัยชนะ :: เสามาร์คุส ออเรลิอุส :: เสาทราจัน :: เสาพระตรีเอกภาพ :: เสาอโศก ::  เสาโอเบอลิสก์ดำ :: เสาโอเบอลิสก์ :: เสาปีศาจ :: เสาโทเทม

ผลงานอื่นๆ ของ ปิยะแสง เช่น
หนังสือ 108 สัญญลักษณ์จีน, ศิลปะจีนสมัยใหม่, มหัศจรรย์แห่งสัญลักษณ์ เครื่องราง และเคล็ดลับนำโชค (Field Guide to LUCK) ฯลฯ

แก้ไขล่าสุด ใน วันอาทิตย์ที่ 25 เมษายน 2010 เวลา 00:11 น.