ตุ๊กตา ต้าอาฝู (大阿福) พิมพ์
ปิยะแสง เล่าเรื่อง
วันพฤหัสบดีที่ 03 ธันวาคม 2009 เวลา 17:03 น.

“ต้าอาฝู” ( 大阿福) เป็นตุ๊กตามงคลที่พบเห็นกันได้ทั่วไป มักสร้างกันเป็นรูปปั้นเด็กผู้ชาย และเด็กผู้หญิง ตัวกลมๆ หน้าตาน่ารัก เอกลักษณ์ของตุ๊กตาต้าอาฝูนั้นก็คือ ในอ้อมอกของเด็กชายหญิงทั้งสองนั้น จะอุ้มสัตว์วิเศษไว้ตัวหนึ่ง แลดูคล้ายสิงโต (หรือ กิเลน) และชาวจีนจะเรียกตุ๊กตาคู่นี้รวมกันทั้งสองตัวว่า “ต้าอาฝู” โดยไม่แยกว่าเป็นเด็กชายหรือเด็กหญิง  คำว่า “ต้า” (大) หมายถึง ใหญ่ หรือ แสดงความนับถือว่ามีความยิ่งใหญ่  ส่วนคำว่า “อาฝู” ( 阿福) นั้น มีความหมายแบบกลางๆ ที่หมายถึง “เจ้าความสุข”

ดังนั้น จะเห็นได้ว่า “ต้าอาฝู” มีความหมายที่เป็นมงคล หรือสามารถเรียกขานกันแบบน่ารักๆ ว่า “เจ้าความสุขตัวใหญ่ๆ ” อีกทั้งเรื่องราวที่มาของ “ต้าอาฝู” ยังเป็นตุ๊กตาสัญลักษณ์มงคลที่มีลักษณะพิเศษ และมีประวัติความเป็นมาน่าสนใจยิ่ง

 


ตุ๊กตา ต้าอาฝู แบบดั้งเดิม เป็นตุ๊กตาเอกลักษณ์ประจำเมืองอู๋สี มณฑลเจียงซู


“ต้าอาฝู” มีที่มาจากตำนานแห่งเขาฮุ่ยซาน เมืองอู๋สี มณฑลเจียงซู เชื่อกันว่า มีการสร้างกันมาเนิ่นนานแล้วในอดีต อาจสร้างกันมาตั้งแต่สมัยราชวงศ์ซ่ง มีเรื่องเล่าขานอันกลายเป็นตำนานว่า นานแสนนานมาแล้ว ที่บริเวณป่าเชิงเขาฮุ่ยซานเมืองอู๋สี เดิมทีชาวบ้านต่างทำไร่ไถนา และดำรงชีวิตกันอย่างมีความสุข จู่ๆ วันหนึ่งก็ได้ปรากฏสัตว์ประหลาดหน้าตาดุร้ายน่ากลัวโผล่ออกมาจากกลางป่าลึก ไล่จับเด็กๆ ในหมู่บ้านกินเป็นอาหาร สร้างความหวาดกลัวให้แก่ชาวบ้าน จนไม่กล้าออกไปไหนมาไหนตามปกติสุข


ต่อมา ได้มีเด็กวิเศษซึ่งเป็นเด็กชายหญิงคู่หนึ่งปรากฏกายขึ้น ชาวบ้านเรียกกันว่า “ซาไหเอ๋อ” เป็นเด็กที่มีพละกำลังอันมหาศาล และมีพลังวิเศษเหนือธรรมชาติ เพราะเพียงเจ้าสัตว์ร้ายตัวนั้นได้เห็นแม้เพียงรอยยิ้มของซาไห่เอ๋อ มันก็ยอมศิโรราบแต่โดยดี และกระโจนเข้าไปในอ้อมอก ยอมให้ซาไห่เอ๋อกลืนกินมันลงท้องไปอย่างง่ายดาย  ทำให้ตั้งแต่นั้นมา ชาวบ้านเมืองอู๋สีสามารถดำรงชีวิตอยู่ต่อมาอย่างมีความสุข


และเพื่อน้อมรำลึกถึงพระคุณของเด็กวิเศษชายหญิงทั้งสอง ชาวบ้านจึงเอาดินเหนียวมาปั้นเป็นรูปของซาไห่เอ๋อ และตั้งไว้เพื่อสักการะบูชาสืบมา  ชาวบ้านต่างเชื่อกันว่า ผู้ใดที่ได้กราบไหว้บูชา จะพบกับความสุขสืบต่อไป  นานวันเข้า จากคำว่า “ซาไห่เอ๋อ” จึงกลายมาเป็น “ต้าอาฝู” ไปในที่สุด  และรูปลักษณะของต้าอาฝูก็ค่อยๆ เปลี่ยนมาเป็นรูปร่างหน้าตาของเด็กชายหญิงที่หน้าตาน่ารักน่าชัง  โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ตุ๊กตาต้าอาฝูทุกตัวจะต้องอุ้มสัตว์วิเศษไว้ในอ้อมอกเสมอ สัตว์ประหลาดตัวนี้มีอยู่หลายความเชื่อ บ้างว่ามันคือตัว “โห่ว” สัตว์ในตำนานที่คล้ายสิงโตคล้ายมังกร และเชื่อว่าเป็นหนึ่งในเก้าลูกมังกร  บ้างก็ว่ามันคือตัว “เหนียน” หรือสัตว์ประหลาดเขาเดียว คล้ายกับสิงโต และยังเป็นที่มาของสิงโตวันตรุษจีนที่รู้จักกันดี  บ้างว่ามันน่าจะเป็นตัว “ผีซิว” หรือ “ปี่เซียะ” และบ้างก็ว่า มันก็คือตัว “กิเลน” สัตว์ในตำนานที่มีลักษณะกึ่งม้ากึ่งมังกร แต่ไม่ว่าจะเป็นตัวอะไรก็ตาม มันก็ได้กลายมาเป็นสัตว์มงคลที่มีลักษณะผสม คล้ายทั้งสิงโต และกิเลนรวมกัน


อนึ่ง  จากตุ๊กตาดินเหนียวในตำนานของชาวบ้านเมืองอู๋สี มณฑลเจียงซู ก็ได้แพร่หลายความนิยมกว้างไกลออกไป  จนทำให้ชาวบ้านในท้องถิ่นต่างๆ พากันนิยมชมชอบ และทำให้เกิดการประยุกต์ดัดแปลงเปลี่ยนไปตามคติพื้นถิ่น จากเดิมที่เป็นสัตว์ประหลาดคล้ายสิงโตคล้ายกิเลน  ก็กลายมาเป็นการอุ้มหมู (แฝงความหมายถึงความมั่งคั่ง),  อุ้มปลา (แฝงความหมายถึงความอุดมสมบูรณ์),  อุ้มผลท้อ (แฝงความหมายถึงความมีอายุยืนยาว) เป็นต้น

 


ตุ๊กตา ต้าอาฝู ที่สร้างขึ้นในสมัยจักรพรรดิเฉียนหลงแห่งราชวงศ์ชิง

 

เมื่อไม่นานมานี้  สำนักวิจัยค้นคว้าตุ๊กตาดินเผาเมืองอู๋สี ได้เปิดเผยถึงการค้นพบตุ๊กตาโบราณ “ต้าอาฝู” (เพศหญิง) ที่สร้างขึ้นในสมัยจักรพรรดิเฉียนหลง กษัตริย์แห่งราชวงศ์ชิง ตุ๊กตาต้าอาฝูตัวนี้ทำมาจาก ดินเผาระบายสี มีหน้าตายิ้มแย้มแจ่มใส สูง 24 เซนติเมตร ฐานด้านล่างกว้าง 18 เซนติเมตร  นับเป็นตุ๊กตาต้าอาฝูโบราณที่มีอายุเก่าแก่ และยังหลงเหลือมาจนถึงปัจจุบัน  และเมื่อสำรวจในรายละเอียดของตุ๊กตาต้าอาฝูตัวนี้แล้ว จะเห็นได้ว่า มีการสอดแทรกสัญลักษณ์มงคลหลายอย่างเอาไว้ตลอดทั้งตัว เช่น มวยผมทั้งสองสร้างเป็นรูปดอกโบตั๋น (สัญลักษณ์แห่งความงาม และความสูงส่ง)  บริเวณไหล่ทั้งสองข้างวาดเป็นรูปค้างคาวห้าตัว (สัญลักษณ์แห่งความสุขสมบูรณ์ของชีวิต หรือ “อู่ฝู” )  รวมทั้ง สัตว์วิเศษที่อุ้มไว้ ไม่ว่าจะเป็นตัวโห่ว เหนียน ปี่เซียะ หรือ กิเลน ต่างก็กลายมาเป็นสัญลักษณ์แห่งการปกป้องคุ้มครองให้พ้นจากภยันตรายทั้งปวง

 

 


ตุ๊กตา ต้าอาฝู ในปัจจุบัน  มีการประยุกต์มาเป็นการอุ้มหมูแห่งความสุขแทน

 

 


ตุ๊กตา ต้าอาฝู ในปัจจุบัน ประยุกต์ใหม่ให้เป็นการอุ้มปลา

 


เรื่องโดย ปิยะแสง จันทรวงศ์ไพศาล (17)
30 November 2009

ผลงานอื่นๆ ของ ปิยะแสง เช่น
หนังสือ 108 สัญญลักษณ์จีน, ศิลปะ จีนสมัยใหม่, มหัศจรรย์ แห่งสัญลักษณ์ เครื่องราง และเคล็ดลับนำโชค (Field Guide to LUCK) ฯลฯ

แก้ไขล่าสุด ใน วันอาทิตย์ที่ 25 เมษายน 2010 เวลา 00:29 น.