ตุ๊กตาอินเดบีเล (Ndebele dolls) ตุ๊กตาพื้นเมืองสัญลักษณ์ของประเทศแอฟริกาใต้ พิมพ์
ปิยะแสง เล่าเรื่อง
วันพุธที่ 23 มิถุนายน 2010 เวลา 00:00 น.

คำว่า Ndebele ออกเสียงว่า In-de-bey-lay (อินเดบีเล) เป็นชื่อของชนเผ่าเล็กๆ เผ่าหนึ่งในแอฟริกาใต้ มีประชากรอยู่เพียง 703,906 คน อินเดบีเลเป็นชนเผ่าที่ค่อนข้างมีเอกลักษณ์พิเศษไม่เหมือนใคร  ส่วนใหญ่จะอาศัยอยู่ในบ้านที่ปลูกสร้างคล้ายกระท่อม ที่ดูแปลกตาเป็นพิเศษก็คือ ผนังรอบตัวบ้านจะวาดระบายสีอย่างสวยงาม ภาพต่างๆ เป็นลวดลายกราฟิกเรขาคณิต มีสีสันสดใส ฉูดฉาดบาดตา ซึ่งสอดคล้องกับ ชุดแต่งกายประจำเผ่าของชาวอินเดบีเลที่เน้นสีสันสดใสเช่นเดียวกัน อีกสิ่งหนึ่งที่กลายมาเป็นเอกลักษณ์ของชนเผ่าอินเดบีเล นั่นก็คือ ตุ๊กตาที่มีชื่อว่า “ตุ๊กตาอินเดบีเล”


บ้านทรงกระโจมของชนเผ่าอินเดบีเล

 


หญิงสาวชาวอินเดบีเลกับชุดประจำ ชาติของเผ่า

ตุ๊กตาอินเดบีเล (Ndebele dolls) เป็นตุ๊กตาสำหรับผู้หญิง ทำมาจากเชือกถัก หรือประดับด้วยลูกปัด กับโครงไม้เป็นรูปร่างของสาวน้อยผิวดำ เชือกที่ใช้ถักล้วนมีสีสันสวยงาม ลูกปัดที่ใช้ประดับก็แพรวพราวไปด้วยสีสัน เป็นงานศิลปหัตถกรรมท้องถิ่นของแอฟริกันที่มีชื่อเสียง โดยเฉพาะสีสันอันจัดจ้าน รูปลักษณ์ที่เรียบง่าย บริสุทธิ์ในความคิด ส่วนใหญ่แล้วตุ๊กตาอินเดบีเลจะมีศีรษะที่กลมโต ดวงตากลมๆ แต่ไม่มีปากกับจมูก บริเวณกึ่งกลางใบหน้าจะคั่นแบ่งไว้ด้วยเส้นเชือกหรือแถบลูกปัด และเพราะเป็นตุ๊กตาผู้หญิง บนศีรษะจึงเต็มไปด้วยทรงผมแบบต่างๆ เช่น ทรงผมหยิกแบบสาวแอฟริกัน ทรงผมเปียเส้นเล็กๆ เป็นต้น

ไม่เพียงเท่านี้ ตุ๊กตาอินเดบีเลมีการตกแต่งรายละเอียดอีกหลายอย่างที่แตกต่างกันไป เช่น ประดับวงแหวนคล้องเป็นชั้นๆ รอบคอ สวมใส่กำไลมือ และกำไลข้อเท้า,  หากเป็นตุ๊กตาเด็กๆ เผ่าอินเดบีเล จะมีขนาดตัวเล็กๆ ไม่มีเส้นผมประดับบนศีรษะ  แต่หากเป็นสาวน้อยชาวอินเดบีเล จะมีเครื่องประดับ และเสื้อผ้าอย่างงดงามตามร่างกาย เป็นต้น

 


ภาพเปรียบเทียบระหว่างหญิงชาวเผ่า อินเดบีเลกับตุ๊กตา

 


ตุ๊กตาอินเดบีเลกับแถบผ้าสองสาย linga koba

 

ตุ๊กตาอินเดบีเลแบบพิเศษ จะมีการสวมแถบผ้ายาวคาดศีรษะ สองข้างใบหูจะมีแถบผ้าเส้นยาวปล่อยห้อยไว้ แถบผ้านี้เรียกกันว่า linga koba (ลีกา โคบา) มีความหมายว่า น้ำตายาว เป็นสัญลักษณ์ที่หมายถึง น้ำตา ของผู้หญิงสองสาย สายหนึ่งคือสายน้ำตาแห่งความโศกเศร้าหากเธอต้องสูญเสียบุตรไปในระหว่างการ ตั้งครรภ์  อีกสายหนึ่งนั้นเป็นน้ำตาแห่งความปลาบปลื้มปิติเมื่อเธอได้มให้กำเนิดบุตร ชาย ทั้งนี้คงเป็นเพราะว่า สำหรับหญิงชาวแอฟริกันแล้วนั้น การให้กำเนิดบุตรเป็นหน้าที่อันยิ่งใหญ่ของแม่และเป็นภาระอันสำคัญยิ่งของ ผู้หญิง

เอกลักษณ์อีกแบบหนึ่งของตุ๊กตาอินเดบีเลคือ หากเป็นตุ๊กตาอินเดบีเลที่สวมผ้าคลุมผืนใหญ่ปกคลุมร่างกาย จะหมายถึง ตุ๊กตาผู้หญิงที่แต่งงานแล้ว ผ้าคลุมผืนใหญ่สำหรับหญิงชาวอินเดบีเลมักมีสีสันที่สดใสมากเป็นพิเศษอีก ด้วย  นอกจากนี้  ตุ๊กตาอินเดบีเลที่มีริ้วเป็นเส้นๆ ปิดบังใบหน้า บนศีรษะมีหมวกประดับ และด้านหลังจะมีแถบผ้าผืนเดียวปล่อยห้อยทิ้งชายลงด้านหลัง แถบผ้าเดี่ยวผืนนี้เรียกกันว่า nyoga (อินโยคา) อันเป็นเครื่องหมายของความยินยอมพร้อมใจที่เธอจะเป็นเจ้าสาวผู้ซื่อสัตย์ และภักดี ดังนั้น ตุ๊กตาเจ้าสาวอินเดบีเลจึงมักเป็นตัวพิเศษที่ค่อนข้างหายาก และมีใช้ในวาระพิเศษเท่านั้น

 


ตุ๊กตาเจ้าสาวอินเดบีเล กับแถบ nyoga

 


ตุ๊กตาอินเดบีเลแบบทั่วไป

 


ตุ๊กตาอินเดบีเลแบบง่ายๆ ไม่มีแขนขา

ในวัฒนธรรมของชนเผ่าอินเดบีเล หากหญิงชายรักใคร่ชอบพอกัน ฝ่ายผู้ชายก็มักจะแอบเอาตุ๊กตาอินเดบีเลไปวางไว้หน้าบ้านของหญิงสาว และหากหล่อนรับไว้ นั่นหมายความว่าเธอยินดีที่จะเป็นเจ้าสาวของเขา  ครั้นภายหลังพิธีแต่งงาน ผู้หญิงจะนิยมนำตุ๊กตาอินเดบีเลเก็บไว้กับตัว เธอจะตั้งชื่อให้กับมัน เพราะเมื่อวันหนึ่งในภายหน้า เมื่อเธอคลอดบุตร ลูกของเธอก็จะมีชื่อเดียวกับตุ๊กตาอินเดบีเลนั่นเอง !

ทุกวันนี้ รูปลักษณ์ของตุ๊กตาอินเดบีเลมีอยู่หลายแบบหลายขนาด  มีตั้งแต่ขนาดเล็กประมาณ 3-9 นิ้ว ไปจนถึงขนาดเท่าคนจริงก็มี  บางครั้งจึงมักจะเห็นตุ๊กตาอินเดบีเลที่มีรูปทรงง่ายๆ ไม่มีแขนขา สามารถวางไว้บนพื้นราบได้อย่างสะดวกง่ายดายเพราะเป็นรูปร่างทรงกรวย ประดับตกแต่งด้วยลูกปัดหลากสีอย่างสวยงาม  ซึ่งนานวันเข้า จากตุ๊กตาที่คล้ายกับเครื่องรางยึดเหนี่ยวจิตใจของผู้หญิง ก็ได้กลายมาเป็นตุ๊กตาในพิธีกรรม และวาระพิเศษต่างๆ และสุดท้ายก็กลายมาเป็นของสะสมไปในที่สุด ความนิยมในตุ๊กตาอินเดบีเล ณ วันนี้ ได้แพร่หลายไปสู่ต่างประเทศ และกลายมาเป็นสัญลักษณ์ของชนเผ่าอินเดบีเล  รวมทั้งยังเป็นหนึ่งในสัญลักษณ์ตุ๊กตาพื้นเมือง ของประเทศแอฟริกาใต้อีกด้วย  เพราะไม่ว่าใคร เมื่อแลเห็นสีสันอันสดใสสวยงามมีเสน่ห์ของตุ๊กตาอินเดบีเล ก็อดที่จะชื่นชอบเสียไม่ได้  ใช่หรือไม่ ?

 


เรื่องโดย ปิยะแสง จันทรวงศ์ไพศาล (17)
23 June 2010

ผลงานอื่นๆ ของ ปิยะแสง เช่น
หนังสือ 108 สัญญลักษณ์จีน, ศิลปะ จีนสมัยใหม่, มหัศจรรย์ แห่งสัญลักษณ์ เครื่องราง และเคล็ดลับนำโชค (Field Guide to LUCK) ฯลฯ

แก้ไขล่าสุด ใน วันศุกร์ที่ 25 มิถุนายน 2010 เวลา 21:25 น.