ตุ๊กตาไล่ฝน (てるてるぼうず) พิมพ์
ปิยะแสง เล่าเรื่อง
วันพุธที่ 02 มิถุนายน 2010 เวลา 00:00 น.

ตุ๊กตาพื้นบ้านแบบหนึ่งของประเทศญี่ปุ่นที่ปรากฏเห็นได้ทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นในชนบทหรือใจกลางของเมืองหลวง  ตุ๊กตาตัวนี้มักจะถูกผูกห้อยแขวนไว้กับชายหลังคาบ้านหรือแขวนประดับไว้บนขอบ หน้าต่างหรือบนกิ่งไม้ ทั้งๆที่มันมีรูปร่างที่แสนจะเรียบง่ายธรรมดา ทำขึ้นง่ายๆด้วยเศษผ้าหรือกระดาษสีขาว แต่ไม่น่าเชื่อว่า ตุ๊กตาที่สุดแสนจะธรรมดานี้ กลับมีอิทธิพลต่อคติความเชื่อของชาวญี่ปุ่นมาอย่างยาวนาน เชื่อกันว่า หากแขวนมันไว้ จะทำให้รุ่งขึ้นของวันพรุ่งนี้ ท้องฟ้าจะปลอดโปร่งแจ่มใส  แน่นอนว่า ตุ๊กตาตัวนี้ก็คือ “ตุ๊กตาไล่ฝน”


ตุ๊กตาไล่ฝน หรือ เทรุ เทรุ โบซุ ( Teru teru bozu) เป็นหนึ่งในตุ๊กตาวัฒนธรรมพื้นบ้านของญี่ปุ่น  คำว่า เทรุ (teru) แปลว่า ส่องประกาย (ซึ่งหมายถึงแสงพระอาทิตย์)  ส่วนคำว่า โบซุ (bozu) แปลว่า พระภิกษุ (แต่มีความหมายอีกอย่างหนึ่งว่า “หัวโล้น” เช่นกัน)  ลักษณะของตุ๊กตาไล่ฝน(เทรุเทรุ โบซุ) มีขนาดเล็กประมาณ 5 -8 นิ้ว สร้างขึ้นด้วยกรรมวิธีง่ายๆ  โดยส่วนใหญ่แล้วนิยมใช้ผ้าหรือกระดาษสีขาวมาตัดเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า แล้วหาวัสดุทรงกลมหรือใยฝ้ายมาทำเป็นส่วนศีรษะ ม้วนขึ้นเป็นก้อนกลมบรรจุไว้ตรงกลาง จากนั้นก็จะรวบผ้าเข้าหากันแล้วผูกด้วยเส้นเชือกหรือเส้นด้าย  ต่อมาจึงค่อยวาดรายละเอียดในส่วนศีรษะ เช่น ดวงตา  จมูก และ ปาก  ก่อนที่จะนำไปห้อยแขวนไว้กับชายหลังคาบ้านหรือริมขอบหน้าต่าง  หลังจากนั้น จึงจะตั้งจิตอธิษฐานขอพรให้วันรุ่งขึ้นมีท้องฟ้าที่ปลอดโปร่งแจ่มใส คติความเชื่อแบบนี้ จึงเป็นที่นิยมมากของชาวไร่ชาวนาที่ต้องไปหว่านข้าวไถนาในยามที่ท้องฟ้า อากาศสดใส  ในขณะที่เด็กๆก็จะชอบอกชอบใจ เพราะหากเช้าวันพรุ่งนี้ไม่มีฝนตก  จะทำให้พวกเด็กๆสามารถเดินทางไปทัศนศึกษา แข่งขันกีฬา รวมไปถึงการได้ไปท่องเที่ยวกับครอบครัวได้อย่างมีความสุข

 


ตุ๊กตาไล่ฝนนิยมแขวนไว้ริม
หน้าต่างทั้งในบ้านและที่ทำงาน

ประวัติที่มาของ ตุ๊กตาไล่ฝน (เทรุเทรุโบซุ) กล่าวกันว่าสร้างขึ้นในสมัยเอโดะ (Edo period)หรือประมาณ 400 ปีก่อน  สันนิษฐานว่าความเชื่อเรื่องตุ๊กตาไล่ฝน ได้รับอิทธิพลแบบอย่างมาจาก ตุ๊กตาเซ่าฉิงเหนียง (掃晴娘)ของประเทศจีน มีความหมายว่า “หญิงสาวผู้ขจัดเมฆฝน” ในหนังสือสมัยโบราณชื่อ บันทึกแห่งนครหลวง (帝京景物略) มีข้อความอยู่ตอนหนึ่ง เขียนไว้ว่า  …ฝนตกมานานจนมากเกินไปแล้ว ชาวบ้านจึงเอากระดาษสีขาวมาทำเป็นส่วนศีรษะ ตัดกระดาษสีแดงและเขียวมาทำเป็นเสื้อผ้า แล้วผูกแขวนไว้ใต้หลังคา เรียกกันว่า “เซ่าฉิงเหนียง”


ตำนานอีกเรื่องหนึ่งนั้นมาจากนิทานเรื่อง “หญิงสาวผู้อัศจรรย์”( 神奇女孩) เล่ากันว่า ครั้งหนึ่งนั้น พญามังกรทะเลตะวันออกได้บันดาลให้เกิดฝนตกลงมาอย่างหนักจนเกิดเป็นอุทกภัย ครั้งใหญ่ สร้างความเดือดร้อนให้ชาวบ้านชาวเมืองอย่างหนัก แต่แล้วได้มีหญิงสาวผู้วิเศษได้อาสาปีนขึ้นไปบนยอดหลังคาเพื่อเปิดท้องฟ้า วิงวอนต่อพญามังกรให้ฝนหยุดตก  ก่อนขึ้นสู่สวรรค์ นางได้กำชับชาวบ้านไว้ว่า หากวันใดมีฝนตกหนัก ให้ตัดกระดาษเป็นรูปตัวของนางแขวนไว้กับหลังคาบ้าน  ดังนั้น เมื่อถึงช่วงฤดูฝนในเดือนหกตามปฏิทินจันทรคติ ชาวบ้านก็จะตัดกระดาษเป็นรูปหญิงสาวสีขาว เรียกกันว่า ตุ๊กตาเซ่าหวิน(扫云)แปลว่า ขจัดเมฆฝน หรือ หนี่ว์เอ๋อเซ่าฉิง (女儿扫晴) หมายถึง หญิงสาวผู้ขจัดเมฆฝนให้ฟ้าแจ่มใส และแล้วเมื่อคติความเชื่อเรื่องการทำตุ๊กตากระดาษแพร่หลายมาถึงญี่ปุ่น ด้วยความเชื่อที่ว่า หากแขวนมันไว้จะช่วยทำให้ฝนหยุดตกหรือช่วยทำให้ท้องฟ้าปลอดโปร่งแจ่มใส ได้พัฒนาจนค่อยๆกลายมาเป็น “ตุ๊กตาไล่ฝน” (เทรุเทรุ โบซุ)ในที่สุด


บางครั้งตุ๊กตาไล่ฝนก็จะมีการแขวนไว้ บนราวเชือกเป็นจำนวนมาก

 

นอกจากนี้ บางตำนานก็เล่ากันว่า พระสงฆ์ในนิกายเซน(Zen) เป็นผู้แนะนำให้ชาวบ้านสร้างมันขึ้นเพื่อขอพรให้วันพรุ่งนี้มีท้องฟ้าที่สด ชื่นแจ่มใส พวกเขาจะได้มีกำลังใจออกไปทำไร่ไถนาได้อย่างสะดวกสบาย ความเชื่อเช่นนี้สังเกตได้ว่า อาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับการทำตุ๊กตาไล่ฝนที่มีศีรษะล้านเลี่ยน อันเป็นสัญลักษณ์แทนพระสงฆ์ที่มาช่วยขจัดปัดเป่าเมฆฝนให้มลายหายไปนั่นเอง

 

ภาพของตุ๊กตาไล่ฝนสำหรับคนไทยจำนวนไม่น้อยที่รู้สึกคุ้นตา  ทั้งนี้เป็นเพราะว่า ตุ๊กตาไล่ฝนได้ปรากฏอยู่ในภาพยนตร์การ์ตูนเรื่อง “อิคคิวซัง เณรน้อยเจ้าปัญญา”(一休さ) ฉากภาพตุ๊กตาไล่ฝนเป็นเสมือนตัวแทนของแม่ที่อิคคิวได้แขวนไว้กับกิ่งไม้ เพื่อเป็นตัวแทนความรักความผูกพันที่ใช้ดูต่างหน้าแทนแม่ที่อยู่ห่างไกล  ส่วนใหญ่แล้วชาวไทยจะจดจำภาพของตุ๊กตาไล่ฝนได้เป็นอย่างดี เพราะมีปรากฏอยู่ในเนื้อเรื่องและช่วงเพลงจบของภาพยนตร์การ์ตูนเรื่องนี้


ตุ๊กตาไล่ฝนในฉากหนึ่งของภาพยนตร์ การ์ตูนเรื่อง “อิคคิวซัง เณรน้อยเจ้าปัญญา”

 

ในบทเพลงกล่อมเด็กที่มีชื่อเสียงโด่งดังของญี่ปุ่น ชื่อว่า เทรุเทรุ โบซุ (Teru teru bozu) หรือ ตุ๊กตาไล่ฝน ประพันธ์โดย เคียวซัน อาซาฮาระ (Kyoson Asahara) เรียบเรียงเป็นบทเพลงโดย ชินเปอิ นากายาม่า ( Shinpei Nakayama) มีเนื้อความว่า

“ …เจ้าตุ๊กตาไล่ฝนเอย
ช่วยทำให้วันพรุ่งนี้เป็นวันที่มีอากาศแจ่มใสทีนะ
เหมือนดั่งท้องฟ้าในยามฝัน
หากฟ้าแจ่มใส ฉันจะให้กระดิ่งทองแก่เจ้า
…เจ้าตุ๊กตาไล่ฝนเอย
ช่วยทำให้วันพรุ่งนี้เป็นวันที่มีอากาศแจ่มใสทีนะ
หากเจ้าทำให้ความหวังของฉันเป็นจริง
ฉันจะจิบดื่มสาเกอันหวานชื่น
…เจ้าตุ๊กตาไล่ฝนเอย
ช่วยทำให้วันพรุ่งนี้เป็นวันที่มีอากาศแจ่มใสทีนะ
แต่หากมีเมฆร้องไห้และฝนโปรยปราย
ฉันจะตัดศีรษะของเจ้าเสีย”

นอกจากนี้ ยังมีคติความเชื่อแปลกๆที่น่าสนุกและน่าสนใจยิ่งเกี่ยวกับตุ๊กตาไล่ฝนก็คือ หากตั้งจิตขอพรแล้ววันรุ่งขึ้นท้องฟ้าปลอดโปร่งแจ่มใส ก็ให้เอากระดิ่งเล็กๆมาแขวนคอของมันไว้  แต่ถ้าหากวันใดอยากให้มีฝนตกหนักล่ะก็ ให้เอาตุ๊กตาไล่ฝนห้อยกลับหัวลง (บ้างก็เอาสีดำมาป้ายบนศีรษะ) เพียงเท่านี้ก็จะทำให้ความศักดิ์สิทธิ์ของมันหายไป ฝนก็จะได้ตกลงหนักๆแทนที่


ตุ๊กตาไล่ฝนแบบห้อยกลับหัวลง  เป็นเคล็ดตรงกันข้ามเพื่อขอให้ฝนตกหนักๆ

ไม่ว่าความเชื่อเรื่องตุ๊กตาไล่ฝนจะดลบันดาลให้สัมฤทธิ์ผลหรือไม่ก็ตาม  แต่สำหรับหัวใจดวงน้อยของเด็กๆแล้ว  เช้าวันรุ่งที่ท้องฟ้าแจ่มใส ย่อมส่องประกายเจิดจ้ากลางหัวใจอันบริสุทธิ์ของพวกเขานั่นเอง

 


เรื่องโดย ปิยะแสง จันทรวงศ์ไพศาล (17)
2 June 2010

ผลงานอื่นๆ ของ ปิยะแสง เช่น
หนังสือ 108 สัญญลักษณ์จีน, ศิลปะ จีนสมัยใหม่, มหัศจรรย์ แห่งสัญลักษณ์ เครื่องราง และเคล็ดลับนำโชค (Field Guide to LUCK) ฯลฯ

แก้ไขล่าสุด ใน วันศุกร์ที่ 25 มิถุนายน 2010 เวลา 21:25 น.