เสาทราจัน (Trajan's Column) พิมพ์ อีเมล
ปิยะแสง เล่าเรื่อง
วันจันทร์ที่ 17 สิงหาคม 2009 เวลา 17:54 น.

“เสาทราจัน” คือ เสาสัญลักษณ์แห่งชัยชนะของจักรพรรดิทราจัน (Emperor Trajan) แห่งจักรวรรดิโรมัน เป็นสัญลักษณ์แห่งเกียรติยศ และเครื่องหมายแห่งอำนาจอันเกรียงไกรของโรมันในอดีตกาล  ออกแบบ และควบคุมการสร้างโดยสถาปนิกคนสำคัญของโรมันคือ อะพอลโลโดรุสแห่งดามัสกัส (Apollodorus of Damascus) ตามมติของสภาเซเนทแห่งโรมัน (The Roman Senate) และความพร้อมใจของชาวโรม ที่สร้างอุทิศสร้างถวายแด่พระองค์  จึงทำให้เกิดการสร้าง เสาอนุสรณ์ชัยชนะของจักรพรรดิทราจันแห่งนี้เมื่อปี ค.ศ.113 เพื่อสดุดีพระเกียรติของจักรพรรดิทราจัน ที่มีชัยชนะต่อสงครามดาเชี่ยน (The Dacian wars)

ดังนั้น เสาทราจันจึงเป็นประจักษ์พยานเพื่อบันทึกถึง วีรกรรมของพระองค์ที่ทรงนำพาชัยชนะอันยิ่งใหญ่มาสู่โรมัน  อีกทั้งยังใช้พื้นที่ด้านล่างภายในตัวเสาเป็นสถานที่เก็บพระโกศทองคำ ซึ่งบรรจุอัฐิของจักรพรรดิทราจัน และพระนางโพรตินาผู้เป็นมเหสีไว้เคียงคู่อยู่ภายในเสาตราบนิรันดร์

 



เสาทราจัน ณ ใจกลางทราจันโฟรุม( Trajan's  Forum ) กรุงโรม ประเทศอิตาลีในปัจจุบัน


จักรพรรดิทราจันเป็นหนึ่งในห้าจักรพรรดิ ที่ทำให้จักรวรรดิโรมันก้าวสู่ยุคแห่งความเรืองอำนาจของจักรวรรดิ และความยิ่งใหญ่ทางทหารของโรมัน  ห้าจักรพรรดินั้นประกอบไปด้วย จักรพรรดิเนอร์วา ,  ทราจัน  , ฮาเดรียน , อันโตนินุส ปิอุส และ มาร์คุส  ออเรลิอุส ซึ่งเป็นช่วงยุคทองของจักรวรรดิโรมัน และเป็นจักรพรรดิทั้งห้าพระองค์ที่ชาวโรมันรักเคารพและเทิดทูนยิ่ง


เสาทราจันตั้งอยู่ ณ ใจกลางทราจันโฟรุม (Trajan's Forum) ซึ่งเป็นศูนย์กลางชุมชนของโรม  มีบันทึกไว้ว่า ทราจันโฟรุมได้ถูกขุดสร้างขึ้นเพื่อใช้เป็นศูนย์กลางของการค้า การบริหาร และแหล่งรวมของชุมชน บนพื้นที่ของหุบเขาคาปิโทลิเน กับหุบเขาควาลินอล ตามพระบัญชาของจักรพรรดิทราจัน   ลักษณะของเสาทราจันนั้นเป็นแท่งเสาทรงกลม ความสูง 30 เมตร(98 ฟุต)  แต่หากรวมความสูงทั้งหมดตั้งแต่ส่วนฐานด้านล่างไปจนถึงยอดปลายเสา จะมีความสูงเท่ากับ 38 เมตร หรือ 125 ฟุต เลยทีเดียว  มีน้ำหนักรวมทั้งหมดเท่ากับ 1,100 ตัน สร้างขึ้นจากหินอ่อนลูน่าขนาดใหญ่จำนวน 20 ก้อนต่อประกอบเข้าด้วยกันเป็นแท่งเสา เส้นผ่าศูนย์กลาง 3.7 เมตร ภายในด้านในของตัวเสาเป็นโพรงเสากลวง ด้านในสร้างเป็นบันไดเหล็กเวียนเป็นรูปทรงกลมจากด้านล่างสู่ด้านบนจำนวน 185 ขั้นบันได และจะเจาะช่องเล็กๆไว้เป็นระยะๆรอบตัวเสาเพื่อใช้ถ่ายเทและระบายอากาศ รวมทั้งใช้เป็นหน้าต่างนำแสงสว่างสู่ภายใน



ประติมากรรมรอบเกลียวเสาทราจันทั้ง 23 ชั้น

 

 


ภาพประติมากรรมนูนต่ำแสดงถึงฉากการรบกลางสมรภูมิ

 


แต่จุดเด่นที่สุดของเสาทราจันนั้นก็คือ ผลงานประติมากรรม ที่ได้รับการยกย่องว่าสวยงามที่สุดของเสาเกลียวแห่งโรมัน เท่าที่มีการสร้างกันมา ภาพประติมากรรมนูนต่ำเหล่านี้ เล่าบรรยายถึงเหตุการณ์การทำสงครามระหว่างกองทัพโรมัน ภายใต้การนำทัพโดยจักรพรรดิทราจัน กับชนเผ่าดาเชี่ยน ทั้งสองครั้ง โดยแบ่งการแกะสลักประติมากรรมจำนวน 23 เกลียวรอบเสาทราจัน แบ่งออกเป็นสองส่วน ครึ่งแรกของเสาตั้งแต่ส่วนฐานถึงส่วนกึ่งกลาง เป็นการบรรยายถึง เหตุการณ์สงครามดาเชี่ยนครั้งแรก ระหว่างปีค.ศ.101 – 102  และในส่วนครึ่งหลังตั้งแต่กลางเสาไปจนถึงยอดเสาด้านบน เป็นเหตุการณ์สงครามดาเชี่ยนครั้งที่ 2 ในระหว่างปีค.ศ.105 – 106   ภาพต่างๆ รอบเกลียวเสาแสดงให้เห็นถึง ฉากการทำสงครามได้อย่างสมจริงสมจัง มีการแกะสลักให้เห็นถึงการสร้างป้อมปราการ การตั้งทัพ การวางแผนการรบ การบุกประจัญบาน การปะทะกลางสมรภูมิ และยุทธนาวีกลางทะเล  ภาพประติมากรรมทั้งหมดนี้สะท้อนให้เห็นถึง ลักษณะเครื่องแต่งกายของชาวโรมัน เครื่องแบบทหาร อาวุธยุทโธปกรณ์นานาชนิด  โดยมีภาพประติมากรรมของจักรพรรดิทราจันปรากฏอยู่บนเสาเกลียวรวม 59 ตำแหน่งบนรอบเกลียวเสาทั้ง 23 เกลียว และมีจำนวนภาพประติมากรรมรูปคนต่างๆ บนเสาเกลียวทั้งหมดกว่า 2,500 คน   โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ภาพเหมือนขององค์จักรพรรดิทราจันเป็นไปในลักษณะเหมือนจริง  ทั้งพระพักตร์ และร่างกาย อีกทั้งยังจัดองค์ประกอบภาพให้เกิดมิติระยะทางทัศนียวิทยาในหลายๆ จุด  ทำให้สามารถมองเห็นฉาก และเรื่องราวต่างๆ ได้อย่างต่อเนื่อง  ซึ่งหากนำมาคลี่กางภาพประติมากรรมทั้งหมดบนเสาเกลียวมาเรียงต่อกัน จะมีความยาวถึง 190 เมตร  ซึ่งจะกลายเป็น ประติมากรรมสมัยโรมันที่ยาวที่สุดในโลกเช่นกัน

 

บริเวณส่วนฐานเหนือช่องประตูทางเข้าด้านล่างของเสาทราจัน มีจารึกอักษรโรมันที่บ่งบอกเกี่ยวกับ เสาทราจัน และยังคงปรากฏอยู่จนถึงทุกวันนี้  ถอดความได้ว่า

“ สภาซีเนท และพสกนิกรแห่งโรม ใต้พื้นปฐพีอาณาจักรของซีซาร์ องค์ผู้เป็นโอรสแห่งมิเนอร์วา  ณ ปีที่ 17 ของการพิทักษ์ปกป้องอาณาจักร ได้รับการโห่ร้องหกครั้งคราให้สู่ตำแหน่งองค์ราชันย์ ประจักษ์แจ้งต่อขุนเขาอันยิ่งใหญ่ และสถานที่แห่งนี้ อันเป็นที่ที่ได้เคลื่อนย้ายมาสถิตอยู่อย่างยิ่งใหญ่เหนือคณา ”

 

นอกจากนี้ บริเวณส่วนยอดด้านบนสุดของเสาทราจันในปัจจุบัน  มักมีหลายคนเข้าใจผิดคิดว่าเป็นรูปประติมากรรมขององค์จักรพรรดิทราจัน  แต่แท้จริงแล้วไม่ใช่เช่นนั้น  เพราะในบันทึกเก่าแก่ที่มีปรากฏภาพบนด้านหลังเหรียญโบราณสมัยทราจันนั้น แต่ดั้งเดิมได้สร้างเป็นประติมากรรมรูปนกอินทรี ต่อมาได้เปลี่ยนไปเป็นประติมากรรมรูปองค์จักรพรรดิทราจันประทับยืนในร่างเปลือยตามคตินิยมทางศิลปะโรมัน เพื่อแสดงออกถึงความงามแห่งสรีระ และพละกำลังแห่งชีวิต  จนกระทั่งเมื่อสมัยกลางของยุโรป รูปประติมากรรมนี้ได้สูญหายไป  กระทั่งถึงเมื่อปีค.ศ.1587 พระสันตะปาปาซิกตุสที่ 5 ( Pope Sixtus V) ได้ทรงให้สร้างประติมากรรมสำริด “นักบุญปีเตอร์” (St.Peter)ไปประดิษฐานไว้แทนที่บนยอดด้านบนหัวเสามาตราบถึงทุกวันนี้


นักบุญปีเตอร์ (St.Peter) บนหัวเสา

 


คำจารึกด้านล่างของเสาทราจัน


คติการสร้างเสาเกลียว เพื่อแสดงออกถึงสัญลักษณ์แห่งชัยชนะของจักรพรรดิทราจัน เป็นเสาแรกในประวัติศาสตร์โรมัน  ทำให้เกิดเป็นแบบอย่างให้มีการสร้างเสาแห่งชัยชนะในลักษณะเดียวกันนี้ตามมาอีกสองเสา ได้แก่ เสาอันโตนินุส ปิอุส (Antoninus  Pius's  Column) และ เสามาร์คุส ออเรลิอุส (Marcus  Aurelius's  Column)

 

ดังนั้น  เสาทราจันจึงไม่เพียงแต่มีคุณค่ามหาศาลต่อการบันทึกหน้าประวัติศาสตร์แห่งโรมันด้วยศิลปะประติมากรรมแทนการบันทึกด้วยอักษร  แต่ยังกลายมาเป็นสัญลักษณ์หนึ่งของกรุงโรม และยังคงตั้งมั่นอยู่เช่นนั้นมานานเกือบ 2,000 ปี ด้วยหลักการคำนวณทางวิศวกรรมแบบโรมันอันเยี่ยมยอด เพราะแม้กรุงโรมจะประสบกับภัยพิบัติแผ่นดินไหวมาแล้วหลายครั้ง  แต่ ณ วันนี้ เสาทราจัน ก็ยังคงตั้งตระหง่านอยู่เช่นนั้นมาตราบถึงปัจจุบัน

 

 


เรื่องโดย ปิยะแสง  จันทรวงศ์ไพศาล (รุ่น 17) pisaeng@gmail.com
17 August 2009
เรื่องก่อนหน้า เสาพระตรีเอกภาพ :: เสาอโศก ::  เสาโอเบอลิสก์ดำ :: เสาโอเบอลิสก์ :: เสาปีศาจ :: เสาโทเทม

ผลงานอื่นๆ ของ ปิยะแสง เช่น
หนังสือ 108 สัญญลักษณ์จีน, ศิลปะจีนสมัยใหม่, มหัศจรรย์แห่งสัญลักษณ์ เครื่องราง และเคล็ดลับนำโชค (Field Guide to LUCK) ฯลฯ

 

แก้ไขล่าสุด ใน วันพฤหัสบดีที่ 17 กันยายน 2009 เวลา 17:41 น.
 
ลิขสิทธิ์ © 2021 Art-Ed Chula. สงวนไว้ซึ่งสิทธิทั้งหมด.
Joomla! เป็นซอฟท์แวร์เสรีภายใต้ลิขสิทธิ์ GNU/GPL License.
เว็บนี้ขับเคลื่อนด้วย จูมล่าลายไทย