ณ มหานครแห่งโรมในปัจจุบัน ตัวอย่างประจักษ์พยานถึงความเรืองโรจน์ของอาณาจักรโรมัน ปรากฏบนผลงานสถาปัตยกรรมยิ่งใหญ่มากมาย “เสาแห่งชัยชนะ” (Triumphal Column) คือหนึ่งในสัญลักษณ์อันอหังการของโรมัน ที่ประกาศก้องต่อสายตาชาวโลกให้ได้รับรู้ถึง แสนยานุภาพอันยิ่งใหญ่แห่งโรมัน เมื่อสองพันปีล่วงมาแล้ว และยังยั่งยืนยงมาตราบถึงวันนี้ ส่วนใหญ่แล้ว “เสาทราจัน” (Trajan's Column) มักเป็นเสาแห่งชัยชนะที่มีคนรู้จัก และจดจำได้มากที่สุด เพราะเป็นเสาแห่งชัยชนะแห่งแรกสุดที่มีการสร้างมาในอดีตกาล
แต่กระนั้น ในประวัติศาสตร์ศิลปะของโรมันช่วงความรุ่งเรืองในสมัยจักรวรรดิ ยังมีการสร้างเสาแห่งชัยชนะอีกสองแห่ง นั่นก็คือ เสาอันโตนินุส ปิอุส (Antoninus Pius's Column) และ เสามาร์คุส ออเรลิอุส (Marcus Aurelius's Column) ต่างกันตรงที่ว่า ณ ปัจจุบัน “เสาอันโตนินุส ปิอุส” ได้พังทลายหักโค่นลงไปแล้ว คงเหลือแต่เพียง “เสามาร์คุส ออเรลิอุส” เท่านั้น ที่ยังคงตั้งตระหง่านจนถึงวันนี้
เสามาร์คุส ออเรลิอุส หน้าจัตุรัสโคลอนนา ( Piazza Colonna ) กรุงโรม ประเทศอิตาลีในปัจจุบัน
“เสามาร์คุส ออเรลิอุส” คือ เสาสัญลักษณ์แห่งชัยชนะของ จักรพรรดิมาร์คุส ออเรลิอุส (Emperor Marcus Aurelius) แห่งจักรวรรดิโรมัน เป็นสัญลักษณ์แห่งแห่งอำนาจอันยิ่งใหญ่ของกองทัพจักรวรรดิโรมัน ที่มีชัยชนะเหนือแว่นแคว้นแห่งชนเผ่าอนารยชน ก่อสร้างขึ้นโดยพระบัญชาของจักรพรรดิคอมโมดุส(Emperor Commodus) ผู้เป็นพระราชโอรสของพระองค์ โดยใช้ต้นแบบตามแบบอย่างของเสาทราจันในอดีต สันนิษฐานว่า “เสามาร์คุส ออเรลิอุส” อาจดำเนินการเริ่มต้นสร้างมาตั้งแต่ปี ค.ศ.180 แต่แล้วเสร็จอย่างสมบูรณ์แบบเมื่อปี ค.ศ.193
จักรพรรดิมาร์คุส ออเรลิอุส (ครองราชย์ระหว่าง ค.ศ.161 – 180) เป็นหนึ่งในห้าจักรพรรดิที่ทำให้จักรวรรดิโรมันก้าวสู่ความยิ่งใหญ่ทางทหาร และแผ่แสนยานุภาพกว้างไกลออกไปสู่แว่นแคว้นต่างๆ ทำให้โรมันเป็นมหาอาณาจักรที่เข้มแข็ง และเป็นที่ครั่นคร้ามต่อชนเผ่าต่างๆ รอบดินแดนทั่วทวีปยุโรปในสมัยนั้น ห้าจักรพรรดิผู้ยิ่งใหญ่ในสมัยจักรวรรดิประกอบไปด้วย จักรพรรดิเนอร์วา, ทราจัน , ฮาเดรียน, อันโตนินุส ปิอุส และ มาร์คุส ออเรลิอุส ซึ่งเป็นช่วงยุคทองของจักรวรรดิโรมัน และเป็นจักรพรรดิทั้งห้าพระองค์ที่ชาวโรมันรักเคารพ และเทิดทูนมากยิ่งกว่าสมัยใดๆ
เสามาร์คุส ออเรลิอุส ตั้งอยู่ ณ ใจกลางจัตุรัสโคลอนนา (Piazza Colonna) เดิมทีนั้น บริเวณที่ตั้งเดิมของ เสามาร์คุส ออเรลิอุส อยู่ทางทิศเหนือของบริเวณ ลานมาร์ติอุส ตั้งอยู่กึ่งกลางของวิหารฮาเดียเนอุม กับวิหารมาร์คุส ออเรลิอุส ลักษณะของเสามาร์คุส ออเรลิอุสนั้นเป็นแท่งเสาเกลียวทรงกลม ความสูง 29.60 เมตร บนฐานสี่เหลี่ยมซึ่งสูงกว่า 10 เมตร ดังนั้น หากรวมความสูงทั้งหมดตั้งแต่ส่วนฐานด้านล่างไปจนถึงยอดปลายเสา จะมีความสูงเท่ากับ 41.95 เมตร (ซึ่งสูงกว่าเสาทราจันเสียอีก) ลำต้นเสามาร์คุส ออเรลิอุสสร้างขึ้นจากหินอ่อนคาร์ราราขนาดใหญ่จำนวน 28 ก้อน ต่อประกอบเข้าด้วยกันเป็นแท่งเสา เส้นผ่าศูนย์กลาง 3.7 เมตร ภายในด้านในของตัวเสาเป็นโพรงเสากลวง ด้านในสร้างเป็นบันไดเหล็กเวียนเป็นรูปทรงกลมจากด้านล่างสู่ด้านบนประมาณ 190-200 ขั้นบันได
ภาพประติมากรรมแสดงถึงความโหดร้ายของสงคราม
ประติมากรรมรอบเกลียวเสามาร์คุส ออเรลิอุส
แม้ว่า เมื่อมองดูแต่ผิวเผินแล้ว อาจมองเห็นว่าเสามาร์คุส ออเรลิอุสมีความคล้ายคลึงกับเสาทราจันมาก แต่แท้จริงแล้วกลับมีลักษณะที่แตกต่างกันหลายประเด็น โดยเฉพาะอย่างยิ่งบนภาพประติมากรรมรอบๆ เสา เพราะในขณะที่เสาทราจันมีเนื้อหาภาพเกี่ยวกับเหตุการณ์สงครามดาเชี่ยน งานแกะสลักประติมากรรมมีรายละเอียดเกี่ยวกับ กลยุทธ และการสู้รบกลางสมรภูมิ แต่สำหรับเสามาร์คุส ออเรลิอุสนั้นมีเอกลักษณ์ที่แตกต่างกัน ตรงที่เนื้อหาบนภาพแกะสลักประติมากรรมบนเสาจะมีการแสดงออกทางอารมณ์มากกว่า โดยเฉพาะสีหน้า และอากัปกิริยาของบุคคลต่างๆ ที่ดูแล้วเกิดความหดหู่ และสะทกสะท้อนใจ อาทิ การร่ำไห้ การหวีดร้อง และการคร่ำครวญ ภาพหลายภาพมีความน่ากลัว และแสดงถึงความโหดร้ายของสงคราม การทารุณกรรม การเข่นฆ่า และฉากการประหารชีวิต อีกทั้งในส่วนความลึกของประติมากรรมของภาพจะมากเป็นพิเศษ ดังนั้น ภาพตัวคนกับฉากหลังจะเกิดมิติ ระยะ และความตื้นลึก เช่นเดียวกับที่ภาพต่างๆ เหล่านี้เมื่อกระทบกับแสงแดด จะบังเกิดเป็นแสง-เงาที่ตรงข้ามกันอย่างชัดเจน
เสามาร์คุส ออเรลิอุส เล่าบรรยายถึงเหตุการณ์การทำสงครามระหว่างกองทัพโรมันภายใต้การนำทัพโดยจักรพรรดิมาร์คุส ออเรลิอุส กับชนเผ่ามาร์โคมานน์ ชนเผ่าเกาดิ และ ชนเผ่าซาร์มาเธียน โดยแบ่งการแกะสลักประติมากรรมเกลียวรอบเสาเป็นสองส่วน ครึ่งแรกของเสาตั้งแต่ส่วนฐานถึงส่วนกึ่งกลาง เป็นการบรรยายถึงเหตุการณ์สงครามกับแคว้นชนเผ่ามาร์โคมานน์ และชนเผ่าเกาดิ ในระหว่างปีค.ศ.172 – 173 และในส่วนครึ่งหลังตั้งแต่กลางเสาไปจนถึงยอดเสาด้านบนเป็นเหตุการณ์สงครามกับแคว้นชนเผ่าซาร์มาเธียน ในระหว่างปีค.ศ.174 – 175 ดังนั้น ภาพประติมากรรมต่างๆ บนเสาเกลียวมาร์คุส ออเรลิอุส แท้จริงแล้วนั้นก็เปรียบเสมือนดั่งการประกาศถึงความชอบธรรมของโรมัน ที่ทำสงครามอย่างโหดเหี้ยมทารุณกับชนชาติศัตรูที่อ่อนแอกว่า ไม่แตกต่างอะไรกับการโฆษณาชวนเชื่อในปัจจุบัน ที่มองตนเองว่าเป็นฝ่ายถูกต้องแต่เพียงด้านเดียว
ภาพทั้งหมดของเสามาร์คุส ออเรลิอุส
นักบุญปอล(St.Paul)บนหัวเสา
เมื่อวันเวลาผ่านพ้นไป หลังอาณาจักรโรมันอันยิ่งใหญ่ล่มสลาย ในสมัยกลางของยุโรป (Middle Age) ยังได้เกิดเทศกาลประจำปีในการปีนเสามาร์คุส ออเรลิอุส แต่ทว่า เทศกาลดังกล่าวได้ยกเลิกไปแล้วในปัจจุบัน นอกจากนี้ บริเวณส่วนยอดด้านบนสุดของเสามาร์คุส ออเรลิอุสแต่เดิมนั้นเป็นประติมากรรมรูปเหมือนของ จักรพรรดิมาร์คุส ออเรลิอุส จนกระทั่งเมื่อถึงสมัยกลาง รูปประติมากรรมนี้ได้สูญหายไป กระทั่งถึงเมื่อปีค.ศ.1589 พระสันตะปาปาซิกตุสที่ 5 ( Pope Sixtus V) จึงได้ทรงให้สร้างประติมากรรมสำริด “นักบุญปอล” (St.Paul) ไปประดิษฐานไว้แทนที่บนยอดด้านบนหัวเสามาตราบถึงทุกวันนี้
ดังนั้น เสามาร์คุส ออเรลิอุส จึงมีคุณค่าเสมือนหนึ่งการจำลองประวัติศาสตร์แห่งโรมันให้มีชีวิต ด้วยงานประติมากรรมรอบเสาเกลียว เป็นสัญลักษณ์แห่งอำนาจขององค์จักรพรรดิมาร์คุส ออเรลิอุส ที่ได้สืบทอดสู่อนุชนรุ่นหลังให้ได้เรียนรู้ศึกษา และเป็นเสาชัยชนะแห่งโรมันที่หลงเหลือมาถึงปัจจุบัน เป็นเสาที่สอง รองจากเสาทราจัน และยังเป็นสัญลักษณ์อีกแห่งหนึ่งใจกลางของกรุงโรม ประเทศอิตาลีปัจจุบัน
เรื่องโดย ปิยะแสง จันทรวงศ์ไพศาล (รุ่น 17)
pisaeng@gmail.com 25 August 2009 เรื่องก่อนหน้า เสาทราจัน :: เสาพระตรีเอกภาพ :: เสาอโศก :: เสาโอเบอลิสก์ดำ :: เสาโอเบอลิสก์ :: เสาปีศาจ :: เสาโทเทม
ผลงานอื่นๆ ของ ปิยะแสง เช่น หนังสือ 108 สัญญลักษณ์จีน, ศิลปะจีนสมัยใหม่, มหัศจรรย์แห่งสัญลักษณ์ เครื่องราง และเคล็ดลับนำโชค (Field Guide to LUCK) ฯลฯ |