เสาศิวะ (Shiva Pillar) พิมพ์ อีเมล
ปิยะแสง เล่าเรื่อง
วันจันทร์ที่ 07 กันยายน 2009 เวลา 00:00 น.

ขุนเขาไกรลาส (Mount Kailash) ดินแดนแห่งความเชื่อว่า เป็นที่ประทับของ องค์พระศิวะ (Shiva) หรือที่คนไทยนิยมออกเสียงเรียกว่า “พระอิศวร” เป็นดินแดนแห่งความศักดิ์สิทธิ์ ตามความเชื่อของชาวฮินดูในอินเดียว่า เป็นสถานที่ที่มีความยิ่งใหญ่เหนือคำพรรณนาใดๆ จะเทียบเปรียบได้

ชาวฮินดูต่างให้ความเคารพศรัทธาในขุนเขาไกรลาสว่า เป็นที่ที่พระศิวะ และพระนางปารวตี (Parvati) หรือที่คนไทยรู้จักกันในพระนาม “อุมาเทวี” ประทับอยู่เคียงคู่ และอยู่สุดสูงแห่งพื้นพิภพ  แต่จะมีใครคาดคิดว่า ณ วันหนึ่ง มนุษย์ได้นำพลังแห่งศรัทธานั้น อุทิศให้กับการขุดเจาะภูเขาขนาดใหญ่ และลงมือสกัดหินแกะสลักลงไปบนผนังหินอย่างบรรจงยาวนานนับร้อยปี จนกระทั่งภูเขาลูกนั้นกลายมาเป็นเทวาลัยที่ยิ่งใหญ่ ซึ่งสมมติให้เป็นดั่งขุนเขาไกรลาสจำลองบนผืนโลก  ดังนั้น “เทวาลัยไกรลาส” จึงเป็นหนึ่งในหมู่ถ้ำที่เรียกกันว่า ถ้ำเอลโลรา (Ellora Caves) ได้กลายมาเป็นสิ่งมหัศจรรย์จากฝีมือของมนุษย์ที่อยู่เหนือคำอธิบายใดๆ และตรงหน้าเทวาลัยแห่งนั้น คือที่ตั้งของแท่งเสาหินแกะสลักคู่หนึ่ง ที่สถิตตระหง่านอยู่มานานกว่าพันปี นั่นก็คือ “เสาศิวะ” หรือ “เสาศิวะแห่งเอลโลรา”

 

 


เทวาลัยไกรลาสและเสาศิวะทั้งสองฝั่ง ส่วนหนึ่งของหมู่ถ้ำที่เอลโลรา เมืองออรังคะบาต ประเทศอินเดีย

 

เสาศิวะ (Shiva  Pillar) ที่คงอยู่จนถึงปัจจุบันนี้ อยู่บริเวณด้านหน้าของทางเข้าสู่ เทวาลัยไกรลาส (Kailash Temple) หรือ ไกรลาสนาถ (Kailasanatha) หรือที่เรียกกันในทางโบราณคดีว่า “ถ้ำหมายเลข 16” มีลักษณะเป็นเสาแฝด ตั้งอยู่ใกล้เคียงกับประติมากรรมช้างศิลาขนาดเท่าจริง สร้างไว้ขนาบข้างด้านซ้าย – ขวาของ วิหารนนทิ (Nandi Pavilion) ซึ่งเป็นวิหารด้านหน้าของเทวาลัยไกรลาส ด้านบนของวิหารนนทิสร้างเป็นยอดหน้าตัดสี่เหลี่ยม ยกพื้นรูปวงกลมสามชั้น มีประติมากรรมรูปสิงโตศิลาจำนวน 4 ตัว ยืนรายล้อมรอบวงกลมทรงดอกบัว ด้านในของวิหารยังเป็นที่ตั้งของ ประติมากรรมโคนนทิ หรือ โคอุศุภราช สัตว์พาหนะขององค์พระศิวะ

 

เสาศิวะทั้งสองแกะสลักจากหินบะซอลต์  เช่นเดียวกับตัวเทวาลัย และวิหารทั้งหมดที่สกัดจากหินบะซอลต์เช่นกัน  เสาศิวะมีความสูง 17 เมตร ( 56 ฟุต ) ด้านล่างแกะสลักซ้อนลดหลั่นเป็นสามระดับ ลำต้นเสาตั้งตรง สกัดหินให้เป็นเสาทรงสี่เหลี่ยม  ผนังทั้งสี่ด้านแกะสลักภาพประติมากรรมนูนต่ำ ขอบด้านบนแกะลวดลายพรรณไม้ และลายกาบบัว มีการใช้เส้นโค้งพริ้วไหวอย่างงดงาม มองดูคล้ายคลึงกับพวงมาลัยดอกไม้คล้องประดับอยู่บนตัวเสา  ปลายส่วนบนโค้งเว้าเข้าด้านใน มีการแกะสลักขอบเส้นต่างๆ ซ้อนกันหลายชั้น เส้นลายกลีบบัวต่างๆ เหล่านี้ นับเป็นต้นแบบลวดลายแบบอินเดียโบราณที่แพร่หลายออกไปทั่วโลกในเวลาต่อมา  ยอดบนสุดสร้างเป็นประติมากรรมเรียกว่า “ธวัช” (Dhvaja) หรือ “ธงชัย” (Victory banner) แต่ปัจจุบันชำรุดและหักพังไปหลายส่วน รูปแกะสลักธวัช หรือธงชัย เป็นหนึ่งในแปดสัญลักษณ์ “อัษฏมงคลแปดประการ” ซึ่งมีต้นกำเนิดจากคัมภีร์พระเวทในศาสนาฮินดู ก่อนที่จะแพร่หลายไปสู่ศาสนาพุทธนิกายมหายานในภายหลัง

 


ทัศนียภาพในมุมสูงของเสาศิวะ

 


ลวดลายอันวิจิตรงดงามบนยอดหัวเสาศิวะ

 

ตรงกึ่งกลางของเทวาลัยไกรลาส เป็นที่ตั้งของวิหารใหญ่ สกัดสร้างจากหินเป็นลวดลายภาพเทพเจ้าองค์สำคัญ และตำนานจากเรื่อง รามายณะ และ มหาภารตะ รูปทรงสถาปัตยกรรมเทวาลัยไกรลาสจึงมองดูคล้ายภูเขาขนาดใหญ่ ที่เต็มไปด้วยลวดลายอันวิจิตรบรรจง ด้านในเป็นที่ประดิษฐาน “ศิวลึงค์” (Shiva linga) ตั้งอยู่บนฐานโยนี สัญลักษณ์ศิวลึงค์นั้นเป็นสัญลักษณ์แทนพระศิวะ เป็นสัญลักษณ์สำคัญของลัทธิไศวนิกาย ที่บูชาในองค์พระศิวะ และเป็นเครื่องหมายแห่งกำเนิดสรรพสิ่งในจักรวาล ความอุดมสมบูรณ์ และสมดุลแห่งชีวิต

 


ศิวลึงค์ภายในเทวาลัยไกรลาส

 


เสาศิวะและวิหารนนทิ ด้านหน้าของวิหารใหญ่ของเทวาลัยไกรลาส


เทวาลัยไกรลาสสร้างขึ้นในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 8 มีลักษณะสถาปัตยกรรมเป็นแบบ ดราวิเดียน (Dravidian) ตามพระประสงค์ของพระเจ้ากฤษณะที่ 1 (King Krishna I) แห่งอาณาจักรราษฎรกูฏ (Rashtrakuta Kingdom) มีความเก่าแก่มากกว่า 1,200 ปีล่วงมาแล้ว  การสร้างเทวาลัยมาจากมหาศรัทธาของพระองค์ ที่ต้องการให้เป็นสถานที่ถวายบูชาต่อเบื้องหน้าที่ประทับแห่งองค์พระศิวะ (พระอิศวร) ณ ขุนเขาไกรลาสจำลองบนแดนดิน


อนึ่ง  เทวาลัยไกรลาส คือ “ถ้ำหินหมายเลข 16” เป็นหนึ่งในหมู่ถ้ำหินเอลโลรา (Ellora Caves) ซึ่งเป็นที่ตั้งของ วัด วิหาร และเทวาลัย ที่ขุดเจาะลงไปบนผนังหินผาบนภูเขา มีความยาวครอบคลุมพื้นที่กว่า 2 กิโลเมตร  ภายในบริเวณที่ตั้งของหมู่ถ้ำเอลโลราประกอบไปด้วย การสร้างเทวสถาน และศาสนสถานของทั้งสามศาสนา อันได้แก่ ศาสนาฮินดู  ศาสนาพุทธ และ ศาสนาเชน  รวมทั้งหมด 34 ถ้ำ (จำแนกเป็นเทวาลัยในศาสนาฮินดู 17 ถ้ำ  มหาวิหารในศาสนาพุทธ 12 ถ้ำ และ ศาสนสถานในศาสนาเชนจำนวน 5 ถ้ำ) ปัจจุบัน พื้นที่ของหมู่ถ้ำเอลโลราอยู่ที่เมืองออรังคะบาต (Aurangabad) รัฐมหาราษฎร ประเทศอินเดีย ความยิ่งใหญ่ของเทวาลัยไกรลาส และหมู่ถ้ำเอลโลรา จึงได้รับการขึ้นทะเบียนและประกาศให้เป็น “มรดกโลก” (World Heritage Site) จากองค์การศึกษาวิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเนสโก (UNESCO) เมื่อปี ค.ศ. 1983

 

 


เรื่องโดย ปิยะแสง จันทรวงศ์ไพศาล (17)
7 August 2009

ผลงานอื่นๆ ของ ปิยะแสง เช่น
หนังสือ 108 สัญญลักษณ์จีน, ศิลปะ จีนสมัยใหม่, มหัศจรรย์ แห่งสัญลักษณ์ เครื่องราง และเคล็ดลับนำโชค (Field Guide to LUCK) ฯลฯ

แก้ไขล่าสุด ใน วันอาทิตย์ที่ 25 เมษายน 2010 เวลา 00:21 น.
 
ลิขสิทธิ์ © 2021 Art-Ed Chula. สงวนไว้ซึ่งสิทธิทั้งหมด.
Joomla! เป็นซอฟท์แวร์เสรีภายใต้ลิขสิทธิ์ GNU/GPL License.
เว็บนี้ขับเคลื่อนด้วย จูมล่าลายไทย