“โอเบลิสก์ดำ” หรือ “แบล็ค โอเบลิสก์” (Black Obelisk) เป็นหนึ่งในเสาหินโบราณแห่งอารยธรรมเมโสโปเตเมีย ประติมากรรมบนเสาหินของพระเจ้าชาลมาเนเซอร์ที่ 3 (King Shalmaneser III ) แห่งอาณาจักรอัสสิเรีย (Assyria) นับเป็นสิ่งล้ำค่าของศิลปกรรมยุคโบราณที่อาจไม่เป็นที่รู้จักกันมากนัก แต่กลับมีคุณค่าสุดประเมินได้จากภาพแกะสลักบนเสาหิน
เพราะนี่คือ “เสาที่เป็นสัญลักษณ์บอกเล่าถึงเรื่องราวในอดีตอันเรืองโรจน์ของอาณาจักรอัสสิเรีย กับความสัมพันธ์ต่อชาวยิว และคริสต์ศาสนา” และเนื่องจากแท่งเสาหินดังกล่าว สกัดขึ้นจากแท่งหินปูนสีดำ และมีลักษณะคล้ายคลึงกับเสาโอเบลิสก์ของอียิปต์ ทำให้นักประวัติศาสตร์ศิลป์นิยมเรียกเสาหินนี้ว่า “โอเบลิสก์ดำ”
เสาโอเบลิสก์ดำ ปัจจุบันอยู่ที่ The British Museum ประเทศอังกฤษ
ในช่วงที่อาณาจักรอัสสิเรียเรืองอำนาจในดินแดนเมโสโปเตเมียนั้น พระเจ้าชาลมาเนเซอร์ที่ 3 (ครองราชย์ในช่วง 858 – 824 ปีก่อน ค.ศ.) พระองค์ได้ทรงขยายดินแดนแผ่กว้างออกไปจนยิ่งใหญ่ไพศาล สร้างความเกรียงไกรให้แก่ชนเผ่าอื่นๆ จนยอมศิโรราบต่อกำลังกองทหารของอัสสิเรีย ทำให้เมื่อพระองค์เสด็จสวรรคตแล้ว จึงได้เกิดการสร้างเสาหินโอเบลิสก์ดำขึ้น สันนิษฐานกันว่า น่าจะสร้างขึ้นเมื่อประมาณ 825 ปีก่อน ค.ศ. เดิมที เมื่อตอนแรกขุดค้นพบเสาโอเบลิสก์ดำนั้น พบที่บริเวณซากพระราชวังของอัสสิเรียที่คาลฮู (Kalhu) (ปัจจุบันก็คือเมืองนิมรัต(Nimrud) ทางตอนเหนือของประเทศอิรัก) แต่ภายหลัง เสาโอเบลิสก์ดำได้ถูกลักลอบนำออกไปยังสหราชอาณาจักร(อังกฤษ) ปัจจุบันนี้ เสาโอเบลิสก์ดำ ตั้งอยู่ในโซนศิลปกรรมเมโสโปเตเมียใน “บริติชมิวเซียม” (The British Museum) ประเทศอังกฤษ อีกทั้งยังมีเสาโอเบลิสก์ดำในลักษณะแบบเดียวกันนี้ จำลองไว้ที่ “สถาบันตะวันออกแห่งชิคาโก” (The Oriental Institute) รัฐอิลลินอยส์ สหรัฐอเมริกา
ลักษณะของ “เสาโอเบลิสก์ดำ” เป็นแท่งหินปูนสีดำสนิท แกะสลักขึ้นมาจากหินเพียงก้อนเดียว มีความสูง 197.85 เซนติเมตร กว้าง 45.08 เซนติเมตร บนชั้นปลายสุดของเสาจะสร้างคล้ายรูปซิกกูรัต ซ้อนๆ กันสามชั้น และสาเหตุที่ทำให้ “เสาโอเบลิสก์ดำ” มีคุณค่าทั้งต่อวงการศิลปะ และประวัติศาสตร์นั้น มาจากภาพประติมากรรมนูนต่ำที่แกะสลักไว้รอบๆ ตัวเสาทั้งสี่ด้าน ในบริเวณเสาของแต่ละด้านจะแบ่งออกเป็นช่องสี่เหลี่ยมผืนผ้าจำนวน 5 ช่อง เรียงจากแถวบนลงล่าง และเมื่อรวมทั้งสี่ด้านของตัวเสา ทำให้มีภาพประติมากรรมรวมกันทั้งหมด 20 ภาพ และในแต่ละช่องนั้น มีการแกะสลักภาพประติมากรรมที่เล่าถึงเหตุการณ์ในยุคสมัยของพระเจ้าชาลมาเนเซอร์ที่ 3 และพระปรีชาสามารถของพระองค์ที่สามารถพิชิตแว่นแคว้นต่างๆ จนยอมศิโรราบต่ออาณาจักรอัสสิเรีย โดยในแต่ละภาพนั้นจะแกะสลักตัวอักษรรูปลิ่ม หรือ คูนิฟอร์ม (Cuneiform) กำกับไว้อย่างละเอียด อีกทั้งยังมีการบอกเล่าเรื่องราวต่างๆ เพิ่มเติมด้วยการแกะสลักไว้บนส่วนยอดด้านบนทั้งสามชั้นตลอดทั้งสี่ด้าน ทำให้สามารถศึกษาเรียนรู้ถึงเรื่องราวต่างๆ ในรัชสมัยของพระองค์ได้อย่างกระจ่าง
รายละเอียดบางส่วนทางด้านซ้ายของเสาโอเบลิสก์ดำ
ความสำคัญประการหนึ่งของ “เสาโอเบลิสก์ดำ” นั้น อยู่ที่บริเวณภาพประติมากรรมแกะสลักบริเวณด้านหน้า มีการสร้างเป็นภาพประติมากรรมนูนต่ำ เล่าถึงชนเผ่าโบราณที่อาณาจักรอัสสิเรียเข้ายึดครอง และอาณาจักรต่างๆ เหล่านั้นได้ส่งตัวแทน และคณะฑูตมาถวายเครื่องราชบรรณาการแด่พระองค์ เรียงจากด้านบนลงล่าง ได้แก่ 1. ชนเผ่ากิลซานู (Gilzanu) เป็นอาณาจักรโบราณทางทิศตะวันตกของอิหร่านปัจจุบัน 2. ชนเผ่าเจฮู (Jehu) หรือก็คือดินแดนแห่งอาณาจักรอิสราเอลโบราณ 3. ชนเผ่ามุสรี (Musri) สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นอาณาจักรโบราณทางตะวันออกของอิหร่านปัจจุบัน 4. ชนเผ่าซูฮี (Suhi) ตั้งอยู่บริเวณตอนกลางของซีเรียและอิรักปัจจุบัน 5. ชนเผ่าพาตินา (Patina) เป็นดินแดนโบราณทางตอนใต้ของตุรกี
ประติมากรรมนูนต่ำช่องที่สอง แสดงถึงคณะทูตจากเจฮูถวายเครื่องราชบรรณาการต่อพระเจ้าชาลมาเนเซอร์ที่ 3
ในจำนวนนี้ ภาพประติมากรรมช่องที่ 2 ที่กล่าวถึง “ชนเผ่าเจฮู” (Jehu) เป็นสิ่งที่นักประวัติศาสตร์ให้ความสำคัญสูงสุด เพราะคำว่าเจฮูไม่ได้หมายถึงชื่อของชนเผ่า แต่เป็นคณะทูตจากกษัตริย์ชาวยิวผู้มีพระนามว่า “เจฮู” และเป็นประจักษ์พยานถึงดินแดนเก่าแก่ของอาณาจักรอิสราเอลโบราณ ซึ่งครั้งหนึ่งชาวยิวเคยตั้งรกรากครอบครองดินแดนอิสราเอลมาช้านาน แต่ได้ถูกอาณาจักรอัสสิเรียบุกรุกเข้ายึดครอง ดังนั้น คำจารึกด้วยอักษรคูนิฟอร์มที่แกะสลักไว้ มีข้อความแปลได้ว่า “พวกชนเผ่า(ของ)เจฮู , ผู้บุตรแห่งอัมรี : ข้าได้รับสิ่งบรรณาการเหล่านั้นด้วย ทองคำ เงิน ภาชนะและจอกทองคำ คฑาแห่งราชันย์และหอกศาสตรา” คำว่า เจฮู (Jehu) นั้น คือพระนามของกษัตริย์ชาวยิวแห่งอาณาจักรอิสราเอล เมื่อราว 841 ปีก่อน ค.ศ. ซึ่งตรงกับเนื้อหาที่ว่าด้วยการรุกรานของอัสสิเรีย ดังที่มีกล่าวไว้ในไบเบิ้ล หรือ พระคริสตธรรมคัมภีร์ ภาคพันธสัญญาฉบับเดิม (The Old Testament) ด้วยหลักฐานของอัสสิเรียในเสาโอเบลิสก์ดำ จึงกลายมาเป็นเรื่องราวที่เชื่อมโยงระหว่างประวัติศาสตร์ ศิลปะ และ ศาสนา รวมไว้เป็นหนึ่งเดียวกันอย่างน่าสนใจยิ่ง
เรื่องโดย ปิยะแสง จันทรวงศ์ไพศาล (17) pisaeng@gmail.com 28 July 2009
ผลงานอื่นๆ ของ ปิยะแสง เช่น หนังสือ 108 สัญญลักษณ์จีน, ศิลปะ จีนสมัยใหม่, มหัศจรรย์ แห่งสัญลักษณ์ เครื่องราง และเคล็ดลับนำโชค (Field Guide to LUCK) ฯลฯ
|