เสาอโศก (Ashoka Pillar) พิมพ์ อีเมล
ปิยะแสง เล่าเรื่อง
วันจันทร์ที่ 03 สิงหาคม 2009 เวลา 01:55 น.

“เสาอโศก” หรือ “เสาแห่งพระเจ้าอโศก” (Pillars of Ashoka) เป็นเสาสัญลักษณ์แห่งพระพุทธศาสนาในผืนแผ่นดินแห่งชมพูทวีปเมื่อครั้งอดีตกาล สร้างขึ้นโดยพระราชโองการของพระเจ้าอโศก (King Ashoka) กษัตริย์แห่งราชวงศ์โมริยะ หรือ เมารยะ (Maurya)

โดยจะสร้างเสาศิลาปักตั้งไว้ ณ ตำแหน่งของสถานที่ที่เป็นสังเวชนียสถาน และสถานที่ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับพระสัมมาสัมพุทธเจ้า  สันนิษฐานว่า การสร้างเสาอโศกไม่เพียงแต่เป็นการระบุถึง ที่ตั้งของสถานที่สำคัญทางพระพุทธศาสนาเท่านั้น แต่ยังเป็นเสมือนการประกาศถึงพระพุทธศาสนาที่ได้ขยายขอบเขตแว่นแคว้นไปทั่วทุกแห่งหนในรัชสมัยของพระองค์ เป็นเครื่องหมายแทนพุทธบูชา และเตือนขุนนางทั้งปวงให้ปกครองราษฎรโดยธรรม

 


เสาอโศกที่เลาริยะ-นันทครห์ (Lauriya-Nandangarh)


ที่มาของการค้นพบเสาอโศกนั้น มีการพบครั้งแรกในประวัติศาสตร์เมื่อประมาณพุทธศตวรรษที่ 21 (คริสต์ศตวรรษที่ 16) ในบริเวณซากเมืองโบราณที่เมืองเดลี โดยนักโบราณคดีชื่อ โทมัส  คอร์ยาต ( Thomas Coryat) ในครั้งนั้น ได้มีการพบแท่งเสาศิลา และอักษรปริศนาที่ไม่เข้าใจในความหมาย จนกระทั่งเมื่อช่วงสมัยที่อังกฤษเข้ายึดครองอินเดียเป็นอาณานิคม เมื่อปี พ.ศ.2373 (ค.ศ.1830) จึงได้มีการสำรวจซากเมือและแท่งเสาหินอีกครั้งโดย เจมส์ ปรินเซบ (James  Prinsep) และได้ผู้เชี่ยวชาญทั้งสองท่านคือ กัปตันเอ็ดวาร์ด สมิธ (Edward  Smith) และ จอร์จ  เทอนัวร์ (George  Turnour) ร่วมกันศึกษา และสามารถถอดความหมายของจารึกบนแท่งเสาศิลาได้ในที่สุด และพบว่า แท่งเสาหินดังกล่าวนี้เป็นของกษัตริย์ผู้เรียกขานกันว่า “ปิยะทัสสี” (Piyadasi) หมายถึง ผู้เป็นที่รักของเทพเทวา หรือก็คือกษัตริย์ผู้มีพระนามว่า “พระเจ้าอโศก” (King Ashoka) ผู้ครองแผ่นดินโมริยะ (เมารยะ) นั่นเอง


คำจารึกบนเสาอโศก จากเดิมที่เป็นปริศนาไร้คำตอบ กลายมาเป็นความกระจ่างที่นักโบราณคดี และนักประวัติศาสตร์สามารถเข้าใจในเรื่องราว และความหมาย อีกทั้ง คำจารึกดังกล่าวเป็นอักษรพราหมี (Brahmi) อันเป็นอักษรของตระกูลภาษาปรากฤต (Prakrits) ซึ่งเป็นภาษาท้องถิ่นของชาวบ้านในแคว้นอวันตี เข้าใจว่า เป็นความประสงค์ของพระองค์ที่ต้องการให้ราษฎรสามารถอ่าน และเข้าใจได้โดยง่าย

 

จารึกอักษรพราหมี (Brahmi) บนเสาอโศก หัวเสาอโศกที่สารนาถ


จากหลักฐานจารึกดังกล่าว ได้บันทึกว่า แต่เดิมนั้นพระเจ้าอโศกมิได้นับถือในพระพุทธศาสนา ตัวพระองค์เองก็สืบราชบัลลังก์ต่อจากพระราชบิดาคือพระเจ้าจันทรคุปต์ ด้วยการทำสงครามแย่งชิงราชสมบัติกับเจ้าชายสุมนะผู้เป็นพระเชษฐา  ก่อให้เกิดสงครามเข่นฆ่าระหว่างพี่น้องร่วมสายโลหิต ท้ายสุด พระเจ้าอโศกได้สังหารพระเชษฐา ก่อนที่จะเสด็จขึ้นครองแผ่นดินเป็นกษัตริย์แห่งโมริยะ (เมารยะ) เมื่อพ.ศ.274 (269 ปีก่อนค.ศ)  ในช่วงแรกของการเสวยราชสมบัติ พระเจ้าอโศกทรงปกครองแผ่นดินด้วยความโหดร้าย และโหดเหี้ยมทารุณต่อผู้ที่ขัดขวางอำนาจของพระองค์  ในขณะเดียวกัน ก็ทรงทำสงครามขยายอาณาจักรของพระองค์ออกไปอย่างกว้างไกล  แต่แล้ว เหตุแปรเปลี่ยนที่ทำให้พระเจ้าอโศกกลับกลายจากทรราชเป็นมหาราชนั้น ก็คือ เหตุการณ์เมื่อครั้งทรงทำสงครามครั้งใหญ่กับแคว้นกลิงกะ (Kalinga) เมื่อปีพ.ศ.282 ซึ่งเป็นปีที่ 8 หลังการครองราชสมบัติ  แม้ในครั้งนั้น พระองค์จะเป็นฝ่ายมีชัยชนะในสงคราม แต่ก็ได้ทำให้ประชาชนล้มตายเกลื่อนกลาด ดังที่มีปรากฎในคำจารึกว่า
“...สงครามกับกลิงกะ แม้จักได้เชลยศึกมากว่า 150,000 คน แต่ทว่า ข้าศึกกว่า 100,000  คน ก็ได้ถูกเข่นฆ่าสังหารล้มตายกลางสมรภูมิอย่างน่าเอน็จอนาถใจนัก...”


หลังเหตุการณ์ในครั้งนี้ ทำให้พระองค์ทรงรู้สึกเศร้าสลดใจ และเริ่มสำนึกในบาปกรรมอันมหันต์  ต่อมา พระเจ้าอโศกได้มาพบพานกับสามเณรน้อย“นิโครธ” ซึ่งเป็นพระโอรสของเจ้าชายสุมนะพระเชษฐาที่พระองค์ทรงสังหาร  สามเณรได้แสดงธรรม และตักเตือนให้พระองค์ละเว้นจากบาปกรรมและให้ตั้งมั่นในพระพุทธศาสนา  ด้วยเหตุดังกล่าวนี้ ทำให้พระเจ้าอโศกทรงสำนึกพระองค์ และทรงประจักษ์แจ้งแล้วว่า “ชัยชนะที่แท้จริงนั้นคือชัยชนะโดยธรรม นี่จึงนับเป็นชัยชนะอันสูงสุด” ดังนั้น นับตั้งแต่นั้นมา พระองค์จึงละเว้นจากบาปกรรมทั้งปวง และทรงทุ่มเทชีวิตให้กับการอุปถัมภ์พระพุทธศาสนา เพื่อให้พระธรรมคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเผยแผ่ออกไปทั่วแผ่นดินของพระองค์


หลังจากนั้นมา  พระเจ้าอโศกจึงได้โปรดให้มีการสังคายนาพระไตรปิฎกครั้งที่ 3 ที่เมืองปาฏลิบุตร ทรงสร้างสถูปที่สาญจี และส่งพระธรรมฑูตออกไปเผยแผ่พระพุทธศาสนา โดยแบ่งออกเป็น 9 สาย ทำให้พระพุทธศาสนาเผยแผ่ไปทั่วทุกดินแดนแว่นแคว้น และไปสู่นานาประเทศในเวลาต่อมา  นอกจากนั้น พระองค์ยังได้ทรงเสด็จไปเยี่ยมเยือนราษฎร และทรงเสด็จธรรมยาตราตามรอยพระพุทธองค์ โดยเสด็จไปยังพุทธสังเวชนียสถาน และพุทธสถานทั่วทุกหนแห่ง และ ณ ทุกๆ ที่ที่ทรงเสด็จไปถึง จะมีรับสั่งให้สร้าง “เสาศิลา” เพื่อจารึกอักษรถึงความสำคัญของสถานที่ และเหตุการณ์อันสำคัญของพระพุทธศาสนา เพื่อเป็นประจักษ์พยานสืบต่อไป  ซึ่งการจารึกนั้น มีทั้งการสร้างเสาศิลาที่ทรงประดิษฐานด้วยพระองค์เอง และเสาศิลาที่ทรงให้เจ้าเมืองในแคว้นต่างๆ จัดสร้างขึ้นแทน  รวมทั้งหาก ณ ที่ใดไม่อาจสร้างได้ ก็ให้ใช้วิธีจารึกไว้บนผนัง หรือแผ่นหินต่างๆ แทน  ทำให้ในทุกวันนี้ จึงสามารถพบหลักฐานต่างๆ ดังกล่าวในหลายประเทศปัจจุบัน เช่น อินเดีย ปากีสถาน และ อัฟกานิสถาน เป็นต้น  แม้ว่าจะไม่มีหลักฐานใด สามารถบอกได้ว่า แท้ที่จริงแล้วมีเสาศิลาจารึก หรือที่เรียกกันว่า “เสาอโศก” อยู่จำนวนเท่าใด  แต่ก็มีตำนานเล่าขานกันว่า ทรงโปรดให้สร้างเสาศิลาไว้ถึง  84,000 ต้น (บางบันทึกกล่าวว่าเป็นจำนวนของเจดีย์ 84,000 องค์)


การสร้างเสาอโศกนั้น สร้างจากหินทรายสีแดงอมชมพู (red sandstone) และ หินทรายขาว (white sandstone) โดยใช้หินจากแหล่งหินทรายที่ตำบลจูนาร์ เมืองวาราณสี เสาแต่ละต้นมีขนาดความสูงตั้งแต่ 40 – 70 ฟุต มีน้ำหนักโดยเฉลี่ย 50 ตัน  ใช้ช่างแกะสลักฝีมือดีในการสร้าง และขนส่งไปยังดินแดนต่างๆ ด้วยการขนส่งทางบก และทางเรือ  ลักษณะของเสาอโศก จะมีรูปร่างเป็นแท่งปล่องเสาเรียวสูงขึ้นสู่ปลายด้านบน  ส่วนฐานเสามีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางใหญ่ และค่อยๆ ลดขนาดลงเมื่อถึงปลายหัวเสา ลำต้นเป็นผิวเรียบ ไม่สลักลวดลาย แต่จะมีการแกะสลักจารึกอักษรแสดงถึงความสำคัญของสถานที่นั้นๆ ไว้บนเสา


ทุกวันนี้  เสาอโศกมีตั้งปรากฎอยู่ตามสถานที่ต่างๆ ทั่วประเทศอินเดียปัจจุบัน  เสาหลายต้นถูกทำลายโดยฝีมือมนุษย์ บางต้นถูกทำลายโดยธรรมชาติ และพังทลายไปตามกาลเวลา  ในจำนวนเสาอโศกที่มีหลงเหลืออยู่ในทุกวันนี้ และยังมีสภาพที่ค่อนข้างสมบูรณ์อยู่นั้น  ได้แก่
1.    เสาอโศกที่อัลลาหะบาด (Allahabad) เดิมทีเชื่อว่าตั้งอยู่ที่เมืองโกสัมพี
2.    เสาอโศกที่พุทธคยา (Bodhgaya)
3.    เสาอโศกที่เดลี (Delhi)
จะมีอยู่ด้วยกัน 2 ต้น เดิมทีนั้นเสาทั้งสองตั้งอยู่ที่เมืองเมรัฐ และ เมืองโทปรา ในรัฐหรยานะ  ต่อมา พระเจ้าเฟโรซ ชาห์ ตุฆลัก (Firuz Shah Tughlug) กษัตริย์ราชวงศ์โมกุล ทรงมีพระบัญชาให้ย้ายเสาทั้งสองต้นมาไว้ที่ กรุงเดลี เมื่อพ.ศ.1899 (ค.ศ.1356)
4.    เสาอโศกที่เลาริยะ-อเรราช (Lauriya-Areraj)
5.    เสาอโศกที่เลาริยะ-นันทครห์ (Lauriya-Nandangarh)
6.    เสาอโศกที่สวนลุมพินี (Lumbini) เมืองกุสินารา (กุสินคร)
7.    เสาอโศกที่นิกาลีสการ์ (Nigalisagar)
8.    เสาอโศกที่รามปุรวะ (Rampurva) หรือ รามปุระ(Rampur)
9.    เสาอโศกที่สาญจี (Sanchi) เมืองโภปาล
10.    เสาอโศกที่สันกิสาร์ (Sankissa) หรือ สังกัสสะ(Sankasa)
11.    เสาอโศกที่สารนาถ (Sarnath) ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน เมืองพาราณสี
12.    เสาอโศกที่สาวัตถี (Sravasti)
13.    เสาอโศกที่เวสาลี (Vaishali)


จุดเด่นที่สุดของเสาอโศกนั้น ก็คือ “ประติมากรรมบนหัวเสา”  ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นรูปสิงห์แกะสลัก  ประดิษฐานอยู่บนยอดด้านบน  เป็นสัญลักษณ์บ่งบอกถึงพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าที่องอาจดั่งราชสีห์ และส่งเสียงคำรามแผ่ไพศาลไปไกลแสนไกล  นอกจากนี้ยังมีสัญลักษณ์รูปธรรมจักร และดอกบัวตรงบริเวณด้านล่างของแท่นหัวเสา อันเป็นนัยยะแทนพระธรรมคำสอน และองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า


ในบรรดาประติมากรรมรูปสิงห์ หรือสิงโตบนเสาอโศกที่ยังอยู่ในสภาพสมบูรณ์นั้น ที่มีชื่อเสียงที่สุดก็คือ “หัวเสาอโศกรูปสิงโตสี่ตัว” นั่งหันหลังชิดติดกัน โดยหันหน้าไปทางทิศทั้งสี่  เป็นประติมากรรมบนหัวเสาอโศกที่เมืองสารนาถ ปัจจุบันเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑ์แห่งชาติสารนาถ (อนึ่ง รูปสิงโตสี่ตัวนี้ ต่อมาได้ถูกนำมาใช้เป็นตราแผ่นดินของประเทศอินเดียปัจจุบัน) แต่ทว่า ส่วนลำต้นของเสาอโศกนั้นได้แตกหักออกเป็นสี่ส่วน  ดังนั้น หากรวมความสูงของเสาอโศกที่สารนาถต้นนี้ จะมีความสูงทั้งหมดรวม 50 ฟุต


ประติมากรรมยอดหัวเสารูปสิงโตที่มีชื่อเสียงอีกแบบหนึ่งนั้นก็คือ “หัวเสาอโศกรูปสิงโตเดี่ยว” เป็นประติมากรรมรูปสิงโตนั่งเพียงตัวเดียว มีให้เห็นที่เสาอโศกเมืองเวสาลี และ เสาอโศกที่เลาริยะ-นันทครห์


หัวเสาอโศกไม่ได้มีเพียงแต่รูปสิงโตเท่านั้น  ยังมีหัวเสาอโศกบางแห่งที่สร้างเป็นสัตว์ชนิดอื่นที่ไม่ใคร่เป็นที่รู้จักกันมากนัก เช่น “หัวเสาอโศกรูปช้าง” ซึ่งมีให้เห็นเฉพาะที่เสาอโศกที่สันกิสาร์ (สังกัสสะ) และ “หัวเสาอโศกรูปวัว” ซึ่งปรากฎอยู่บนหัวเสาอโศกที่รามปุรวะ (รามปุระ) เป็นต้น

 

หัวเสาอโศกรูปวัว ที่รามปุรวะ(รามปุระ) หัวเสาอโศกรูปช้าง ที่สันกิสาร์(สังกัสสะ)

 

ดังนั้น  จากที่กล่าวมาแล้วนั้น จึงเห็นได้ว่า “เสาอโศก” ไม่เพียงเป็นแค่ศิลปกรรมชิ้นเยี่ยมหรือเป็นเพียงหลักฐานแห่งอดีตกาลอันรุ่งโรจน์ของชมพูทวีปเท่านั้น แต่ยังมีความยิ่งใหญ่ และมีความสำคัญต่อพุทธศาสนิกชนทั่วโลกอย่างหาที่เปรียบมิได้ เพราะประวัติศาสตร์ของเสาอโศกก็คือ ประวัติศาสตร์ของพระพุทธศาสนา ที่ทำให้ทุกวันนี้ ชาวพุทธจึงได้ทราบถึงสถานที่ที่แท้จริงของพุทธสถาน และสังเวชนียสถานทั้งสี่ รวมทั้งเรื่องราวหลังสมัยพุทธกาลที่สืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน

 


เรื่องโดย ปิยะแสง  จันทรวงศ์ไพศาล (รุ่น 17) pisaeng@gmail.com
2 August 2009
เรื่องก่อนหน้า เสาโอเบอลิสก์ดำ :: เสาโอเบอลิสก์ :: เสาปีศาจ :: เสาโทเทม

ผลงานอื่นๆ ของ ปิยะแสง เช่น
หนังสือ 108 สัญญลักษณ์จีน, ศิลปะจีนสมัยใหม่, มหัศจรรย์แห่งสัญลักษณ์ เครื่องราง และเคล็ดลับนำโชค (Field Guide to LUCK) ฯลฯ

 

แก้ไขล่าสุด ใน วันพฤหัสบดีที่ 17 กันยายน 2009 เวลา 17:41 น.
 
ลิขสิทธิ์ © 2021 Art-Ed Chula. สงวนไว้ซึ่งสิทธิทั้งหมด.
Joomla! เป็นซอฟท์แวร์เสรีภายใต้ลิขสิทธิ์ GNU/GPL License.
เว็บนี้ขับเคลื่อนด้วย จูมล่าลายไทย